บทเรียนการประชุมงานมหกรรมคุณภาพ (Quality Fair) ประจำปี 2567
เรื่อง “Lesson Learned : Hospital Certification Standards : ถอดบทเรียน มาตรฐานการรับรองสำหรับโรงพยาบาล”
วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 13.00-14.15 น.
ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 และ
ถ่ายทอดสดผ่านระบบเน็ตเวิร์ค SiBN, IPTV, Facebook งานพัฒนาคุณภาพ
วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ศ. นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิสิฐกุล (รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์)
รศ. นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร (ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก)
ศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช)
ดำเนินการอภิปราย โดย
รศ. พญ.อรอุมา ชัยวัฒน์ (รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
ศ. นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิสิฐกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวว่า เป้าหมายของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) คือการให้บริการที่เทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ จุดสำคัญที่เน้นให้เกิดขึ้นในการดูแลผู้ป่วยคือ World class, Quality และ Tertiary care โดย SiPH ใช้มาตรฐาน Joint Commission International (JCI) ที่เป็นมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มการรับรองครั้งแรกในปี 2013 และต่ออายุการรับรองทุก 3 ปี โดยครั้งล่าสุดคือปี 2023 การเยี่ยมสำรวจจะมีผู้เยี่ยมทั้งหมด 3 ท่าน โดยหัวหน้าทีม จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการ เพราะปัจจุบัน JCI ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการ โดยเฉพาะเรื่อง GLD (Governance, Leadership) ท่านต่อมาจะเป็นแพทย์ และท่านสุดท้ายจะตรวจประเมินเรื่องการพยาบาลและการดูแลผู้ป่วย โดยทางทีมของโรงพยาบาลจะเล่าเรื่องที่เป็น Key highlight service โดย SiPH นำเสนอเรื่อง Technology ต่าง ๆ เช่น Robotic surgery prostate, Automated Pharma Dispense, Automated Vital sign ซึ่งสามารถวัด และตรวจจับ Early warning ได้เมื่อพบสัญญาณที่ผิดปกติ และแจ้งทีมแพทย์ให้มาดูแลผู้ป่วยได้ทัน โดย JCT จะสำรวจในเรื่อง Patient centered standard และ Health care organization Management เป็นหลัก
โดยการเยี่ยมสำรวจ จะแบ่งเป็นระดับแดง (0) เหลือง (5) เขียว (10) โดยที่สีแดงคือจุดที่ผิดพลาดซ้ำ ๆ มากกว่า 50% คือเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่ง SiPH ผ่านตามมาตรฐานมากกว่า 95% และมีส่วนน้อยคือ 5% ที่ต้องพัฒนาต่อไป โดยปัญหาที่พบเป็นเรื่อง Facilities หรืออาคารต่าง ๆ ต่อมาเป็นเรื่อง Medication หรือยา นอกจากนี้ SiPH ยังมีการสำรวจผู้รับบริการเรื่องความชื่นชอบเรื่องต่าง ๆ ต่อ SiPH อันดับ 1 คือ การดูแลของทีมแพทย์ แต่เรื่องที่ต้องทำการปรับปรุงและพัฒนาคือเรื่องอาคารและที่จอดรถ
ศ. นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิสิฐกุล ได้ให้มุมมองว่า “มากกว่าคุณภาพ คือแพทย์ศิริราช” เพราะ SiPH เป็นส่วนหนึ่งของศิริราช คุณภาพการรักษาก็มาจากแพทย์ศิริราช นอกจากมุมมองเรื่องการรับรองมาตรฐาน คือการมีหมอที่อยากรักษาผู้ป่วยด้วยความมีใจและเต็มใจ
รศ. นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร เล่าถึงความเป็นมาของการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (Healthcare Accreditation : HA) ของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ตั้งแต่เริ่มแรกที่ได้เข้าไปรับผิดชอบงาน โรงพยาบาลมีจุดแข็งคือ มีบุคลากรอายุน้อย และมาจากหลากหลายมหาวิทยาลัย มีความรู้หลากหลาย มีสถานที่กว้างขวาง และมีพื้นฐานรองรับระบบโรงพยาบาล ที่สำคัญคือ Lab IT Laundry Catering Finance ส่วนจุดอ่อนคือ ขาดทิศทางขององค์กร ขาดความเชื่อมั่น และความผูกพันต่อองค์กร รวมถึงการใช้บุคลากรที่ไม่เหมาะสมกับงาน ไม่มีรถขนส่งสาธารณะ ต้องปรับปรุงพื้นที่ขนาดใหญ่และใช้งบประมาณมาก และยังขาดระบบสำคัญ คือ แหล่งอาหารของบุคลากร ผู้ป่วยและญาติ นอกจากนี้ระบบสนับสนุนมีแนวโน้มจะล้าสมัยในอีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขในช่วงแรกมีหลายเรื่อง อาทิเช่น ภาระหนี้สะสมกว่า 150 ล้าน ประสิทธิภาพของบุคลากร เวลาเปิดทำการ การบริหารโดยมหาวิทยาลัย ไม่มีอาหารพอเพียงกับบุคลากร ผู้ป่วย ญาติ การใช้พื้นที่ให้เหมาะสมและคุ้มค่า และที่สำคัญคือต้องมีความพร้อมในการเยี่ยมสำรวจ HA ต่ออายุครั้งที่ 1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยมีเวลาเตรียมตัวเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น
กลไกที่ใช้ในการแก้ปัญหามี 3 ข้อคือ Finance (ขยัน ประหยัด อดทน) Operation (ผู้ป่วยต้องได้ ถูก เร็ว ดี) และ People (ความรู้ วัฒนธรรมศิริราช)
ด้าน Finance (ระบบการเงิน) ศูนย์การแพทย์ฯ เรียนรู้ระบบการเงินจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แยกระบบเรียกเก็บของแต่ละโรงพยาบาลออกจากกัน เพื่อให้ซับซ้อนน้อยลง ตัดระบบที่ไม่ถนัดออก ให้เอกชนมาดำเนินการ ทำให้แก้หนี้ 150 ล้านได้ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ “ต้องรักษาให้สุดฝีมือ แล้วรายได้จะตามมา พร้อมศรัทธาบริจาค”
ด้าน Operation (ระบบปฏิบัติงาน) มีการแยกการทำงานของคณะต่าง ๆ ออกจากกัน แต่ทำงานร่วมกัน เกิดโรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาห้องปฏิบัติการของคณะเทคนิคการแพทย์ เพิ่มพื้นที่การบริการในอาคารให้คุ้มค่า และการบริการต้อง ถูก เร็ว ดี และสถานที่ทำงานของบุคลากรต้อง Bright and Light
ด้าน People (ระบบบุคลากร) ต้องเลือกคนให้ถูกกับงาน เชิญชวนให้ทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งของศิริราช ทำงานกันเหมือนครอบครัว ทุกคนต้องเรียนรู้และแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูก สร้างอนาคต ดูแลผู้ป่วยแบบญาติ เป็นอาชีพที่ได้ทั้งเงินเดือน และได้บุญ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >> Lesson Learned : Hospital Certification Standards : ถอดบทเรียน มาตรฐานการรับรองสำหรับโรงพยาบาล
ผู้บันทึกบทเรียน
นางสาวกิตติยาภรณ์ เติมกระโทก
งานจัดการความรู้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทร. 0 2419 9009, 0 2419 9750 ต่อ 501-507
อ่านบทเรียนและเรื่องเล่าอื่นจาก งานมหกรรมคุณภาพ (Quality Fair)