เคล็ด (ไม่) ลับ จับประเด็นให้เป็นเรื่อง ตอนที่ 1
ทักษะสำคัญและจำเป็นอย่างหนึ่งในการเขียนบทความคือ การจับประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการจับประเด็นจากการอ่าน หรือจากการฟัง เพื่อนำมาถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน กระชับ และตรงประเด็น ทั้งนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ และการฝึกฝน เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดเนื้อหาออกมาในรูปแบบบทความ ให้คนที่ไม่ได้รับฟัง ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ สามารถเข้าใจประเด็นทั้งหมดได้อย่างครบถ้วน และถูกต้อง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีหลักการ หรือเทคนิคที่ต่างกันออกไป ดังเช่น นางสาวอริสา โพธิ์ชัยสาร ซึ่งมีหน้าที่เขียนบทความในหน่วยพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research : R2R) ที่มีการฝึกฝนทักษะในการจับประเด็น และถ่ายทอดออกมาผ่านงานเขียน จนกระทั่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดบทความและเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลชนะเลิศจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ในงานประชุมวิชาการร่วมแพทยศาสตร์สามสถาบัน พ.ศ. 2558 จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช
นางสาวอริสา โพธิ์ชัยสาร กล่าวว่า การฝึกทักษะเรื่องการเขียนบทความ เริ่มมาจากหน่วยพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) สนับสนุนให้เกิดการจัดการความรู้ โดยการจัดกิจกรรม KM session เป็นประจำทุกเดือน เป็นการนำความรู้ที่เป็นทั้ง tacit knowledge และ explicit knowledge มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทั้งด้านเทคนิคต่าง ๆ ในการทำงาน การทำวิจัย เรื่องในชีวิตประจำวัน และ success storytelling ซึ่งเมื่อมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวหน้าหน่วยงานจะมอบหมายให้ทุกคนมีการจดบันทึก เพื่อให้เกิดความตั้งใจ จดจ่อ ฟังให้ถึงใจ และจับประเด็นว่าคนต้นเรื่องต้องการสื่อสารเรื่องอะไร ที่มา การดำเนินการ และผลที่เกิดขึ้น โดยคนต้นเรื่องส่วนใหญ่มักจะเล่าด้วยข้อเท็จจริง อารมณ์ ความรู้สึก ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเพื่อถ่ายทอดเป็นบทความ ซึ่งไม่เหมือนกับการเขียนเอกสารทั่วไป เนื่องจากต้องทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วมไปกับผู้เล่าด้วย โดยผู้เขียน จะต้องคิดเสมอว่า ทำอย่างไรให้คนที่ไม่ได้รับฟัง ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่สามารถอ่านบทความแล้วเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึกของคนต้นเรื่อง เกิดการเรียนรู้และแรงบันดาลใจได้ อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากการอ่านบทความของเราให้มากที่สุด จากการทำกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้เกิดการฝึกทักษะในการฟัง การตั้งคำถาม การเขียน และการทำสื่อนำเสนอ หล่อหลอมให้เกิดความรู้และทักษะที่จะนำไปสร้างสรรค์ผลงาน การเขียนผลงานออกมาได้ดีนั้น เพราะเราได้เห็นจริง ทำจริง และได้สัมผัสความรู้สึกจริง
ในการทำงานเมื่อได้รับมอบหมายในเรื่องที่ไม่ถนัด เป็นความรู้เชิงลึก เฉพาะทาง หรือไม่เคยรู้มาก่อน เราต้องเตรียมตัวเองก่อนเสมอ ด้วยการอ่านเอกสารประกอบก่อนการบรรยายของวิทยากร หรือค้นคว้าหาความรู้ตามหัวข้อที่บรรยายก่อนในเบื้องต้น เมื่อเข้าสู่การฟังบรรยายจริง จะพยายามจดบันทึกให้มากที่สุด และมักจะขออนุญาตบันทึกเสียงขณะมีการบรรยาย เพื่อเก็บรายละเอียดให้ครบถ้วน และไม่พลาดประเด็นสำคัญ อีกวิธีการหนึ่งคือ จะมีเพื่อนช่วยจดบันทึก เพื่อตรวจสอบความเข้าใจว่าตรงกันและถูกต้องหรือไม่ โดยบทความที่เขียนออกมาต้องผ่านการตรวจสอบโดยคุณรวีวรรณ วัฒนมงคล หัวหน้าหน่วย อ. นพ.อัครินทร์ นิมมานนิตย์ ประธานคณะกรรมการดำเนินการหน่วยพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย และที่สำคัญคือ ต้องผ่านการตรวจสอบโดยบุคคลต้นเรื่องเพื่อความถูกต้องและครบถ้วนของเนื้อหาก่อนการเผยแพร่ และในทุกครั้งเมื่อมีการทำกิจกรรม KM session สิ้นสุดลง จะมีการทำ After Action Review (AAR) เพื่อทบทวนในสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่าจะสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและการทำงานได้อย่างไรบ้าง
ทักษะที่คุณอริสาได้ฝึกฝนมาทั้งเรื่อง KM Tool และการจับประเด็น ทำให้เกิดบทเรียนอย่างไรบ้าง ติดตามได้ใน เคล็ด (ไม่) ลับ จับประเด็นให้เป็นเรื่อง ตอนที่ 2
ดาวน์โหลดบทความได้ที่ เคล็ด (ไม่) ลับ จับประเด็นให้เป็นเรื่อง ตอนที่ 1 (478 downloads )
ดาวน์โหลดวิดีโอ KM Society : เคล็ด (ไม่) ลับ จับประเด็นให้เป็นเรื่อง (451 downloads )
บทความคุณภาพ 3/2564
เรื่อง เคล็ด (ไม่) ลับ จับประเด็นให้เป็นเรื่อง ตอนที่ 1
ที่มา : ศิริราชประชาสัมพันธ์ ปีที่ 33 ฉบับที่ 440 เดือนมีนาคม 2564
1 thought on “เคล็ด (ไม่) ลับ จับประเด็นให้เป็นเรื่อง ตอนที่ 1”