คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้กำหนดเป้าหมายในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) โดยใช้การจัดการความรู้ (Knowledge management) ในแผนกลยุทธ์ตั้งแต่ปี 2548 เพื่อกำหนดทิศทางของคณะฯ แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ของคณะฯ ในปีต่อ ๆ มา ก็ยังมีการคงไว้ซึ่งกลยุทธ์ของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ความหมาย การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ หมายถึง การใช้กระบวนการจัดการความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพของคณะฯ ทำให้มีองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านกระบวนการพัฒนา ปรับปรุง การสร้างนวัตกรรม และการสร้างผลงานวิจัย ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของคณะฯ ในด้านต่าง ๆ ดีขึ้น และบรรลุเป้าหมายของพันธกิจและวิสัยทัศน์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกระดับ
ศ. พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ กล่าวว่า เมื่อคณะฯ กำหนดนโยบาย การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และมอบหมายรองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและทีมงานจัดการความรู้เป็นผู้รับผิดชอบ จึงต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่บุคลากรทั้งคณะฯ ด้านการใช้กระบวนการจัดการความรู้ ซึ่งประกอบด้วย การระบุความรู้สำคัญ เพื่อให้มีการรวบรวม การจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ ขณะเดียวกันก็มีการสกัดและสร้างองค์ความรู้ให้เป็นความรู้ของคณะฯ ที่พร้อมใช้ และเผยแพร่ให้เกิดการนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้จริง สร้างวัฒนธรรมให้บุคลากรใช้และสร้างความรู้ที่ดีขึ้นในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกิดทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน จึงสร้างกลยุทธ์การจัดการความรู้ศิริราชด้วย Siriraj Link-Share-Learn ที่บูรณาการการจัดการความรู้กับการพัฒนาคุณภาพ การกำหนดจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพประจำปี โดยกำหนดให้การจัดการความรู้และการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้เป็นหนึ่งในประเด็นจุดเน้นฯ เพื่อสื่อสารให้หน่วยงานและภาควิชาดำเนินการในทิศทางเดียวกัน โดยงานจัดการความรู้ทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องเครื่องมือและกระบวนการการจัดการความรู้ ร่วมกับงานพัฒนาคุณภาพ และงานบริหารทรัพยากรสุขภาพ สนับสนุนให้บุคลากร หน่วยงาน ภาควิชา มีการแลกเปลี่ยน ถ่ายโอน และสร้างความรู้ ผ่านกระบวนการพัฒนา ปรับปรุง และสร้างนวัตกรรม ในการทำงานประจำ มีการจัดทำหลักสูตรเรื่องเครื่องมือ/กระบวนการการจัดการความรู้ เครื่องมือพัฒนาคุณภาพ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ผ่านระบบ SELECx ของคณะฯ Website งานจัดการความรู้ งานพัฒนาคุณภาพ และงานบริหารทรัพยากรสุขภาพ ส่งเสริม สร้างพลัง ให้เกิดการนำความรู้ไปใช้จริง โดยผ่านทางเวที/กระบวนการต่าง ๆ เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษา รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการพัฒนางานโดยใช้กระบวนการ/เครื่องมือการจัดการความรู้ เกิดการสร้างองค์ความรู้ของคณะฯ ไปด้วยกันเช่น เครื่องมือบริหารความเสี่ยงเชิงรุก ด้วยเครื่องมือ Siriraj Concurrent Trigger Tool (SiCTT) การตามรอยกระบวนการดูแลผู้ป่วย ด้วยเครื่องมือ Siriraj Clinical Tracer Plus (SiCT Plus) เป็นต้น
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่
ศิริราชกับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) (267 downloads )