บริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุกด้วย Siriraj Concurrent Trigger Tool (SiCTT)

          ศ. พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ กล่าวถึงที่มาของการนำเครื่องมือ Siriraj Concurrent Trigger Tool (SiCTT) มาใช้ในโรงพยาบาลศิริราช เกิดจากการที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีการกำหนดจุดเน้นในการพัฒนาคุณภาพในทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยหนึ่งประเด็นที่เป็นจุดเน้นมาโดยตลอดคือ ความปลอดภัย เพราะความปลอดภัยถือเป็นคุณภาพที่สำคัญ หากองค์กรไม่มีความปลอดภัยก็ไม่สามารถเกิดคุณภาพที่ดีได้ จากนั้นจึงมีโครงการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วย โดยการกำหนดเป็น Siriraj Patience Safety Goal และเปลี่ยนเป็น Siriraj 2P Safety Goal ในเวลาต่อมา ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัย มีการประเมินโดยการสำรวจระดับความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยของหน่วยงานที่ให้การดูแลผู้ป่วย เทียบกับ Agency for Healthcare Research and Quality  (AHRQ) ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุก 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 ประเด็นแรกพบว่า ผลประเมินยังไม่สามารถเทียบเคียงกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ประเด็นที่สองคือยังคงมีรายงานอุบัติการณ์เกิดขึ้น นั่นหมายความว่าเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้น ส่งผลให้ผลลัพธ์จากการทำงานไม่ดี และจากที่บุคลากรชาวศิริราชทุกท่านต้องการเห็นการส่งมอบงานที่ดี มีผลการรักษาที่ดี และผู้ป่วยมีความปลอดภัย จึงมีกระบวนการทบทวนอุบัติการณ์และความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางป้องกัน โดยทบทวนแนวทางเพื่อหาเครื่องมือให้ทุกคนตระหนักและประเมินความเสี่ยงเชิงรุกมากขึ้น ตั้งแต่แรกรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ ให้สามารถตรวจจับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และทำการบริหารจัดการ จึงมีการนำเครื่องมือ SiCTT เข้ามาใช้ มีการประชุมร่วมกันเพื่อประเมิน บริหารจัดการในการดูแลรักษาเบื้องต้น จนถึงการเรียกหาความช่วยเหลือโดยการตามแพทย์เพื่อมาดูแลผู้ป่วย ให้เกิดการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ในรูปแบบสหสาขาวิชาชีพ ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

เมื่อได้นำเครื่องมือ SiCTT มาใช้ ส่งผลให้เกิดประโยชน์หลายประการ ประการแรกคือ ประโยชน์ต่อผู้ป่วย เพราะเป็นแนวปฏิบัติที่สร้างขึ้นเพื่อให้พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยสามารถประเมินผู้ป่วย และดักจับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและนำไปบริหารจัดการเพื่อเฝ้าระวังอุบัติการณ์หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยไม่รอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อน เพราะบางเรื่องเป็นความเสี่ยงที่ป้องกันได้ จากการดำเนินการเหล่านี้ผู้ป่วยจึงได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ประการต่อมาคือ กระบวนการทีมที่เป็นระบบ เพราะในระหว่างดำเนินการต้องมีการทบทวนเมื่อเกิดอุบัติการณ์หรือปัญหาขึ้น มีการประชุมร่วมกัน เพื่อสกัดความรู้จนกระทั่งเกิดเป็นแนวปฏิบัติ จากนั้นนำแนวปฏิบัติมาร่วมกันทบทวนอีกครั้ง โดยอาศัยองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน (Tacit knowledge) เทียบเคียงกับมาตรฐาน หรือองค์กรอื่น ที่ทำได้ดี ซึ่งเป็นความรู้เชิงประจักษ์ (Explicit knowledge) ผสมผสานจนเป็นองค์ความรู้ของหน่วยงาน และมีการสอบทานโดยทีมแพทย์อีกครั้ง เป็นการทำงานเป็นทีมอย่างเป็นระบบในการสร้างองค์ความรู้ แบ่งปันความรู้ และถอดความรู้ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการขยายผล (Implement) แต่เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นองค์กรขนาดใหญ่ จึงต้องมีหน่วยงานนำร่อง (Pilot) เพื่อทดลองว่าแนวปฏิบัติใช้ได้จริงหรือไม่ ผลลัพธ์เป็นอย่างไร เมื่อทบทวนแล้วพบว่าเกิดผลลัพธ์ที่ดีจึงจะทำการขยายผล เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการทำงานไปในแนวทางเดียวกัน และยังเป็นการสร้างมาตรฐานในการทำงานอีกด้วย ซึ่งในขั้นตอนการขยายผล จะต้องมีการสอนทักษะบางอย่างในการดูแลผู้ป่วย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถ่ายโอน แบ่งปัน และยกระดับความรู้ เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้กับบุคลากร ทำให้บุคลากรมีทักษะที่ดีขึ้น กระบวนการทีมดีขึ้น สุดท้ายผลดีจะส่งต่อไปยังผู้ป่วย จะเห็นได้ว่าในระหว่างกระบวนการทำงาน จะเกิดการเรียนรู้ในการวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจจับปัญหา การคัดเลือกปัญหา การบริหารจัดการซึ่งอยู่ในกระบวนการนี้ ทั้งหมดคือประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้เครื่องมือ SiCTT

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  บริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุกด้วย Siriraj Concurrent Trigger Tool (บทความ) (177 downloads )
หรือ รับชมบทสัมภาษณ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.