บทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 24Growth Mindset for Better Healthcare System
(ระบบบริการสุขภาพที่ก้าวหน้า ด้วยกรอบความคิดที่กว้างไกล)
เรื่อง “HA-IT” ทำแล้วดีอย่างไร
วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 – 10.00 น.
ณ ห้องสัมมนา Sapphire 202 ศูนย์การประชุม IMPACT FORUM เมืองทองธานี
วิทยากร
วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)
ผศ.(พิเศษ) พญ.อภิญญา ฟักทองอยู่ (โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
น.อ.หญิง ปภัสร์พิมพ์ ชังเทศ (โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์)
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จในกรอบแนวคิด (Frameworks) การพัฒนาคุณภาพเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล ประกอบด้วย
- ผู้บริหารโรงพยาบาลให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กำหนดแนวทางการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศไว้อย่างชัดเจน โดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้ง ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นผู้ใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ปฏิบัติงานในการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
- การจัดการทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีกระบวนการรักษาบุคลากรไว้ในระบบ ป้องกันความเสี่ยงในการสูญเสียบุคลากรที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาคุณภาพเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาลที่สำคัญ : HAIT ใน Data center จำเป็นต้องมีระบบดูแลรักษาความปลอดภัย เพื่อช่วยปกป้องข้อมูลของหน่วยงานจากอาชญากรรมไซเบอร์ ข้อผิดพลาดจากคน และภัยคุกคามจากบุคคลภายในเอง เช่น ระบบล็อคประตูและการควบคุมติดตามการเข้าออกพื้นที่ ระบบปรับอากาศที่ทำให้อุณหภูมิคงที่ เน้นการทำระบบสำรองไฟ และระบบสำรองข้อมูลแบบ online/offline ของ server ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลสำคัญของหน่วยงานไม่สูญหายทั้งนี้ควรใช้ระบบปฏิบัติการซอฟต์แวร์ ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ และ Antivirus ที่ถูกลิขสิทธิ์
การสำรองข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศตามหลัก 3-2-1-1 Backup Strategy
- 3 Copies สำรองข้อมูลอย่างน้อย 3 ชุด แบ่งเป็นชุดข้อมูลหลัก 1 ชุด และชุดข้อมูลสำรองบนระบบสำรองอีก 2 ชุด
- 2 Media ใช้ 2 เทคโนโลยีสำรองข้อมูลเป็นอย่างน้อย เช่น HDD + Cloud หรือ HDD + SSD
- 1 Off-Site มีการสำรองข้อมูล 1 ชุดไปยังสถานที่อื่น (ที่ไม่ใช่ Data Center) เช่น DR Site, External HDD, Cloudหรือสำรองข้อมูลเอาไว้แบบ Offline (Standalone)
- 1 Offline สำรองข้อมูลเอาไว้แบบ Offline (Standalone) และมีการสำรองข้อมูล 7 ชุด
นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของระบบสารสนเทศ คือ การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำข้อมูลไปสู่การขับเคลื่อนด้านต่าง ๆ ภาพการใช้เทคโนโลยีในโรงพยาบาลจะเป็นการใช้โปรแกรมพื้นฐานทั่วไป เช่น Google drive, zoom, WebEx เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาขององค์กรและเกิดผลลัพธ์ในการดูแลผู้ป่วยได้ เช่น การลดภาระงานที่ใช้เวลานาน การติดตามแจ้งเตือนต่าง ๆ ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูล และสร้าง Dashboard ได้ด้วยตัวเอง
กระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศไปสู่ Digital Transformation ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
- ด้านยุทธศาสตร์ คือ การวิเคราะห์แผน การนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนองยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลให้ครอบคลุมในทุกด้าน
- ด้านรูปแบบธุรกิจ (Business Model) คือ การนำข้อมูลเพื่อการตัดสินใจออกแบบพัฒนาการบริการ ยกตัวอย่าง เช่น การวิเคราะห์ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมารับบริการ การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคสำคัญ เพื่อลดระยะเวลาการเข้าถึงการบริการ ลดความผิดพลาด ช่วยให้ผู้ป่วยมีผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้น
- ด้านกระบวนการ (Process) การนำสารสนเทศมาช่วยในการกำกับ ติดตาม แจ้งเตือน และพัฒนางานในด้านนั้น ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในส่วน back office ให้นำระบบสารสนเทศมาช่วยลดขั้นตอนการเบิกวัสดุสำนักงาน ลดระยะเวลาการจ่ายค่าโอที เป็นต้น
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> “HA-IT” ทำแล้วดีอย่างไร
ผู้บันทึกบทเรียน
นายเอกราช จันทรประดิษฐ์
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล