
บทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 25
ภายใต้แนวคิด “Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability
สร้างวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อความยั่งยืนในอนาคต”
เรื่อง “Building Quality Culture to Safety Culture for Sustainability การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ สู่วัฒนธรรมความปลอดภัยเพื่อความยั่งยืน”
วันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 เวลา 10.45 – 12.00 น.
ณ ห้องสัมมนา Sapphire 115-118 ศูนย์การประชุม IMPACT FORUM เมืองทองธานี
วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
นพ.สมจิตร ชี้เจริญ (ผู้เยี่ยมสำรวจ)
ภญ.วิชชุนี พิตรากูล (โรงพยาบาลสมุทรสาคร)
นพ.วันฉัตร ชินสุวาเทย์ (โรงพยาบาลบางจาก)
อ.ดวงกมล นำประทีป (สรพ.)
กลุ่มเปราะบาง ในระบบสุขภาพไทยมีความหลากหลาย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ประชากรในถิ่นทุรกันดาร และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งในประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีแต่ยังมีความท้าทายอยู่มาก ในการดูแลกลุ่มเปราะบางนั้นถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง โดยระบบที่ดีต้องทั่วถึงและเป็นธรรม
การดูแลกลุ่มเปราะบางในประเทศไทยถือเป็นกลยุทธ์สำหรับบุคลากรสาธารณสุข โดยการพัฒนาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขสำหรับกลุ่มเปราะบาง ต้องมีองค์ประกอบที่นอกเหนือจากบริการทางการแพทย์ทั่วไป นั่นคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล
โมเดล บ ว ร เป็นแนวคิดดั้งเดิมที่มีความสำคัญในการดูแลสุขภาพชุมชนแบบองค์รวม คือ
- บ้านเป็นศูนย์กลางของครอบครัวและชุมชน เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางกายและจิตใจ
- วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางสังคม เป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ด้านสุขภาพ และจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย
- โรงเรียนเป็นแหล่งพัฒนาศักยภาพเยาวชน ผ่านการศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่วัยเยาว์ โดยจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
กลุ่มเปราะบางที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่
1) เด็กและเยาวชน โดยการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนพระดาบส การพัฒนาสมอง โดยเฉพาะในเด็กกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability) และเด็กออทิสติก (Autism) และการส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะทุพโภชนาการและส่งเสริมพัฒนาการสมวัย
2) ผู้พิการ การสร้างสังคมที่เท่าเทียม สนับสนุนระบบสุขภาพที่ครอบคลุม เช่น การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพ ปรับสภาพแวดล้อมและกระบวนการที่เอื้อต่อผู้พิการ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านโครงการฝึกอาชีพและการสร้างงานตามความเหมาะสม และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้พิการในชุมชน
3) ผู้สูงอายุ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ ได้แก่ การพัฒนาระบบบริการดูแลระยะยาว (Long-term care) ที่ครอบคลุมทั้งในสถานพยาบาลและชุมชน การส่งเสริมการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุ ตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุ และการบูรณาการระบบดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือจากครอบครัว อาสาสมัคร และองค์กรท้องถิ่น
4) ผู้ยากไร้และผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีโครงการที่หมอไปหาคนไข้เพื่อการเข้าถึงบริการที่ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น Telemedicine สำหรับพื้นที่ห่างไกลเพื่อสะดวกในการปรึกษาแพทย์ และระบบเครือข่ายช่วยเหลือฉุกเฉิน ในภาวะวิกฤต
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> Building Quality Culture to Safety Culture for Sustainability การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ สู่วัฒนธรรมความปลอดภัยเพื่อความยั่งยืน
ผู้บันทึกบทเรียน
นางสาวกิตติยาภรณ์ เติมกระโทก
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล