การปรับเปลี่ยนองค์กร (Organization Transformation) หมายถึง การกำหนดทิศทางของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ บทบาทผู้บริหารในการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างที่ดี ในการมุ่งสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้
สำหรับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลนั้น ผู้บริหารได้ให้ความสำคัญในการใช้การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อสร้างการเรียนรู้ของบุคลากรด้านการพัฒนาคุณภาพ รองรับการรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) และในปี 2548 มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์คณะฯ อย่างเป็นระบบในครั้งแรก จึงกำหนดกลยุทธ์ “พัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยการจัดการความรู้ (Develop Learning Organization with Knowledge Management)” ต่อมาจากการประเมินระบบ KM ในปี 2551 จึงกำหนด Siriraj KM Strategy : Link – Share – Learn เพื่อสื่อสารและเป็นกลไกสำคัญในขับเคลื่อนการจัดการความรู้ สู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และมีการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ทุก 5 ปี ซึ่งฉบับปัจจุบัน ปี 2563-2567 คณะฯ กำหนดกลยุทธ์ “องค์กรแห่งการเรียนรู้” อยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ของคณะฯ เสริมฐานความยั่งยืน (ศึกษายุทธศาสตร์อื่น ๆ) และมอบหมายรองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลด้านการพัฒนาคุณภาพและการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของคณะฯ และมีการสื่อสารถ่ายทอดกลยุทธ์สู่การปฏิบัติผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
- เวทีผู้บริหารพบประชาคม การเยี่ยมหน่วยงานประจำปีของผู้บริหารระดับสูงด้วยตนเอง และทางช่องทางสื่อสารประชาสัมพันธ์ภายในคณะฯ และคู่มือยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจ ให้บุคลากรมองถึงเป้าหมายเดียวกัน
- กำหนดเรื่องการจัดการความรู้และองค์กรแห่งการเรียนรู้เป็นหนึ่งในจุดเน้นพัฒนาคุณภาพของคณะฯ ประจำปี และสื่อสารไปยังภาควิชา/หน่วยงาน เพื่อนำไปจัดทำแผนพัฒนาประจำปีให้สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน โดยบูรณาการการใช้ Siriraj Link – Share – Learn และกระบวนการพัฒนาคุณภาพ เพื่อให้เกิดการพัฒนางานประจำที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย วัฒนธรรมคุณภาพ วัฒนธรรมการเรียนรู้ และมีการสร้างนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศและยั่งยืน
- กำหนดพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดี (Role model) ของผู้บริหารทุกระดับและบุคลากร เพื่อส่งเสริมการดำเนินการด้านการจัดการความรู้ ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมศิริราช (SIRIRAJ culture) และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ในการประชุม การปฏิบัติงานประจำ การให้คำปรึกษา และการสื่อสารในเวทีต่าง ๆ ได้แก่ Siriraj KM website, social media บอร์ดประชาสัมพันธ์ ใบปลิว โปสเตอร์ไปยังภาควิชา/หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งมีการจัดทำ Clip VDO สัมภาษณ์ผู้บริหารกับการส่งเสริมคณะฯ สู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
- ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของบุคลากร ด้านการใช้เครื่องมือคุณภาพ และการจัดการความรู้ ในการทำงานประจำเพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานทั่วทั้งคณะฯ ผ่านการประชุม อบรม และถอดบทเรียนประสบการณ์การทำงานจากผู้เชี่ยวชาญโดยสื่อสารผ่านช่องทางการสื่อสารและเวทีประชุมวิชาการต่าง ๆ ของคณะฯ
- สนับสนุนการดำเนินการชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice : CoP) โดยงานจัดการความรู้ ซึ่งเป็นเวทีที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความรู้ของผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเรื่องเดียวกัน สามารถสกัดเป็นความรู้และแนวปฏิบัติที่พร้อมใช้ในการทำงาน ทั้งที่เป็น CoP แบบทางการ โดยเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสายงานเดียวกัน และ SiCoP Style เป็นผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชาชีพ โดยความรู้ที่ได้จากกลุ่ม CoP จะถูกขยายผลไปยังบุคลากรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ความรู้ทักษะในการเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงาน เป็นการยกระดับคุณภาพงาน
- ยกย่องชมเชย และสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร ทีมงาน และหน่วยงาน ที่มีการเรียนรู้ สร้างนวัตกรรม พัฒนาแนวปฏิบัติ ที่ส่งเสริมกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลร่วมกัน ผ่านทางการประเมินรางวัลโครงการติดดาวประจำปี
- ติดตามประเมินผลเพื่อให้เกิดการพัฒนาการทำงานผ่านทางกระบวนการเยี่ยมสำรวจภายในประจำปี ประกันคุณภาพการศึกษาประจำปี ซึ่งจะมีการค้นหา Best Practice และดำเนินการขยายผลใช้ทั้งคณะฯ หาโอกาสพัฒนา และให้ข้อเสนอแนะกับภาควิชา/หน่วยงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพงานและสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
จากที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหัวข้อ การปรับเปลี่ยนองค์กร ซึ่งผู้บริหารองค์กรและทุกระดับต้องให้ความสำคัญร่วมกันและปฏิบัติเป็นแบบอย่าง เพื่อกำหนดทิศทาง สร้างบรรยากาศ และสนับสนุนให้มีการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ในฉบับต่อ ๆ ไป จะนำเสนอรายละเอียดอีก 4 มิติ คือ การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (Learning Technology) การให้อำนาจบุคคล (People Empowerment) และพลวัตการเรียนรู้ (Learning Dynamic) เพื่อได้ร่วมกันดำเนินการให้คณะฯ สู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม การปรับเปลี่ยนองค์กร (Organization Transformation)