การจัดการความรู้

การจัดการความรู้ (Knowledge Management) คือ กระบวนการที่เป็นระบบในการบริหารจัดการให้คณะฯ มีความรู้สำคัญที่พร้อมใช้ เพื่อให้บุคลากรสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานประจำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการและคณะฯ รวมทั้งสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของคณะฯ

          โดยกระบวนการจัดการความรู้ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยน การรวบรวมและสร้าง การถ่ายทอดและแบ่งปัน การจัดเก็บ และการเผยแพร่ความรู้ เพื่อให้บุคลากรใช้และต่อยอดความรู้ในการทำงานประจำให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุเป้าหมายของหน่วยงานและคณะฯ รวมทั้งการแลกเปลี่ยน/บูรณาการความรู้ที่เป็นประโยชน์จากผู้ป่วย/ผู้รับผลงาน ผู้ส่งมอบ พันธมิตรและองค์กรภายนอก การประยุกต์ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัย โดยกระบวนการจัดการความรู้มีทั้งระดับการทำงานประจำ และการวางแผนกลยุทธ์

          คณะฯ บูรณาการกระบวนการจัดการความรู้กับการพัฒนาคุณภาพ โดยกำหนดกลยุทธ์ในการจัดการความรู้ Siriraj Link – Share – Learn เพื่อใช้สื่อสารและขับเคลื่อน ดังนี้

          เริ่มจาก Learn หมายถึง การทบทวน ประเมินตนเอง ในเรื่องที่ทำได้ดีและยังไม่ดี โดยสิ่งที่ทำได้ดีจะถอดบทเรียน ค้นหาและระบุปัจจัยความสำเร็จ เพื่อแบ่งปัน จัดเก็บ และขยายผล และค้นหาปัญหาจากสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดี เช่น ผลลัพธ์ตัวชี้วัด ข้อมูลลูกค้า (VOC) ความเสี่ยงสำคัญ ผลประเมินตนเองและผลสะท้อนจากภายนอก การศึกษาข้อกำหนด มาตรฐาน กฎหมาย เป็นต้น เพื่อระบุโอกาสพัฒนา คัดเลือก และร่วมกันค้นหาความรู้ที่สำคัญและจำเป็นที่จะใช้ในการแก้ไข พัฒนา และ/หรือสร้างนวัตกรรม ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการทำงาน และการส่งมอบผลงานที่ดีแก่ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

          Link หมายถึง การเชื่อมโยงความรู้สำคัญที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นทีมสหสาขา บุคลากรสายสนับสนุน ผู้บริหาร และทีมประสานงาน หรือจากคลังความรู้ภายใน/ภายนอกองค์กร เช่น คู่มือ ระบบเอกสารคุณภาพ ระบบสารสนเทศ (Intranet/internet) เอกสาร/วารสารวิชาการ ผลงานวิจัย ตำราต่าง ๆ เพื่อร่วมกันสกัด รวบรวม และสร้างความรู้ที่สำคัญเพื่อใช้ตอบสนองปัญหานั้น ๆ

          Share หมายถึง การจัดให้มีเวทีจริงหรือเวทีเสมือนจริงเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน สกัด รวบรวม ความรู้ที่สำคัญให้เป็นองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ปัญหานั้น ๆ และบุคลากรสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานจริงได้ โดยรูปแบบสำคัญของคณะฯ ในการ share คือ ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice : CoP) ซึ่งเป็นรูปแบบการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีปัญหาหรือความปรารถนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ เชิงลึก (ผ่านพื้นที่จริงการประชุม หรือเสมือน) ด้วยความสมัครใจ ทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจ มุมมอง หรือพัฒนาแนวปฏิบัติ/ทักษะ/วิธีการในการแก้ปัญหาในเรื่องนั้น ๆ โดยมีการใช้กระบวนการจัดการความรู้ คือ ระบุปัญหาสำคัญ กำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมาย ค้นหา รวบรวม เรียบเรียง ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์สำคัญ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาร่วมกันมีการเทียบเคียง ผสมผสาน กับความรู้จากแหล่งที่เชื่อถือได้จากภายนอก จากนั้นจึงสรุปเป็นความรู้ที่พร้อมใช้ ในรูปแบบของแนวทางปฏิบัติ กระบวนการทำงาน นำไปทดลองใช้/ปฏิบัติและประเมินผล จนมั่นใจว่าใช้ได้จริง ทำให้การทำงาน/บริการ มีประสิทธิภาพประสิทธิผล สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยระหว่างกระบวนการนำไปใช้ มีการพัฒนาความรู้ ทักษะของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจว่าเข้าใจและทำได้จริง รวมทั้งมีการจัดเก็บเป็นคลังความรู้ เป็นสินทรัพย์ความรู้ (Knowledge asset) เผยแพร่ และขยายผล ให้ผู้เกี่ยวข้องในองค์กรหรือภายนอกสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในการทำงานในทิศทางเดียวกัน มีการติดตาม ทบทวน พัฒนาให้ความรู้นั้นเป็นปัจจุบัน สร้างโอกาสในการขยายผลเชิงโครงการพัฒนางาน นวัตกรรม งานวิจัย หรือแนวคิดใหม่ เป็นการส่งเสริมให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning organization) อีกด้วย

          ตัวอย่าง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบชุมชนนักปฏิบัติ หรือ CoP ซึ่งเป็นการนำกระบวนการ KM มาบูรณาการ กระทั่งเกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ดีและสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

          งานสิทธิประกันสุขภาพ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลและยืนยันการใช้สิทธิในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการใช้สิทธิการรักษาของกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และด้วยข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ที่มีมากมายหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทีมจึงนำเครื่องมือ CoP มาช่วยรวบรวมความรู้ เพื่อใช้ในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเลือกทีมในการทำกิจกรรม กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทุกคนคือสมาชิกของกลุ่ม CoP เนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่งานสิทธิฯ จะต้องอยู่เวรสลับสับเปลี่ยนไปปฏิบัติงานในหลายจุดทั่วทั้งโรงพยาบาล ทุกคนต้องมีความรู้ทุกด้านอย่างเท่าเทียมกันและทำงานได้เหมือนกัน เครื่องมือที่ใช้ในกิจกรรม CoP ได้แก่ Story Telling เป็นการเล่าเรื่องที่จำเป็นในการทำงาน ประเด็นปัญหาที่พบเจอจากการทำงาน และการจัดการกับปัญหาที่พบ โดยมีการวางแผนการจัดกิจกรรม CoP ล่วงหน้า จัดตารางนัดหมายล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน เพื่อแจ้งให้ทราบเรื่องที่จะนำมาพูดคุยกัน ซึ่งการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นจะต้องมี Facilitator หรือคุณอำนวยเพื่อสร้างบรรยากาศให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยมีวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งแบบออฟไลน์ คือ การจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำเดือน และแบบออนไลน์ คือ การจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านระบบ Zoom เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

          กล่าวได้ว่า การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นกระบวนการสำคัญในการกระตุ้นให้บุคลากรมีการสร้าง ใช้ จัดเก็บ และแบ่งปัน ความรู้ในการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งคณะฯ เปิดโอกาสในการเรียนรู้ของบุคลากร กระทั่งเกิดการถ่ายโอนและต่อยอดความรู้ระหว่างกัน และสร้างนวัตกรรมที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการเป็นหลัก ทำให้คณะฯ เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อีกด้วย

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม การจัดการความรู้ (Knowledge Management)

การปรับเปลี่ยนองค์กรการจัดการความรู้ เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ การให้อำนาจแก่บุคคล พลวัตการเรียนรู้

2 thoughts on “Knowledge Management

  1. ขอบคุณสำหรับบทความดีดีครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.