ปัจจุบันในยุคดิจิตอล ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับกระบวนการ และสร้างนวัตกรรม ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องเตรียมการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วตามยุคสมัย ให้ความสำคัญทั้งด้านการจัดสรรทรัพยากร บุคลากร และเทคโนโลยี ระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) จึงเป็นหนึ่งในเทคนิคสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในการทำงานของบุคลากร พร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับองค์กร และสามารถนำศักยภาพมาพัฒนาตนเองและองค์กรได้

ระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System)  หมายถึง ระบบที่พี้เลี้ยงดูแล ช่วยเหลือสนับสนุน และให้คําปรึกษากับบุคลากรที่มีประสบการณ์การทำงานน้อยกว่า โดยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงต้องมีความเชี่ยวชาญในงาน และประสบการณ์การทำงานที่มากกว่าผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล

ผู้รับการดูแล/น้องเลี้ยง (Mentee) หมายถึง บุคลากรใหม่ หรือผู้ที่ต้องอยู่ในการดูแลของพี่เลี้ยง เรียนรู้การทำงาน ฝึกฝนทักษะ เพื่อเพิ่มประสบการณ์การทำงานให้มากขึ้น

ทักษะสำคัญของพี่เลี้ยง มีดังนี้

  1. การสอนงาน (Training) พี่เลี้ยงจะเป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งมาให้ความรู้ ถ่ายทอดเทคนิค หรือประสบการณ์การทำงาน อาจจะเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ โดยผู้ถ่ายทอดความรู้เรียกว่า วิทยากร หรือ Trainer ซึ่งเป็นบุคลากรภายใน หรือภายนอกก็ได้
  2. การโค้ช (Coaching) ทักษะการโค้ชสามารถใช้เป็นการสื่อสาร และการทำงานร่วมกันระหว่างพี่เลี้ยงและน้องเลี้ยง เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองขึ้นด้วยความสามารถของตนเองได้ โดยพี่เลี้ยงต้องเปิดใจ และเชื่อมั่นในศักยภาพของน้องเลี้ยง และใช้ทักษะการโค้ช เช่น คำถามปลายเปิดเพื่อ brain storming สร้างการเติบโตทางความคิด ให้ได้ความคิดใหม่ การ feedback ที่มีคุณภาพให้เกิดการพัฒนาตัวเอง และการสร้างแรงบันดาลใจด้วย Storytelling เป็นต้น
  3. การให้คำปรึกษา (Consulting) พี่เลี้ยงในองค์กรเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความชำนาญ เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จะสามารถถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้หรือทักษะเฉพาะ ให้กับน้องเลี้ยงได้รับรู้ แล้วนำไปประยุกต์ใช้หรือปรับเปลี่ยนการทำงานได้
  4. การให้คำปรึกษาด้านชีวิต (Counseling) เป็นการให้คำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาชีวิต ให้สามารถดำรงชีวิต และทำงานได้อย่างมีความสุข

ข้อดีของการมีระบบพี่เลี้ยงในองค์กร

  1. บุคลากรใหม่หรือผู้รับการดูแล มีแบบแผนการทำงานที่เป็นระบบ และมีบรรทัดฐานการทำงานชัดเจน
  2. การพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่มีความสามารถ และยังช่วยลดอัตราการลาออกของบุคลากรใหม่ เพราะมีพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำปรึกษาในด้านการทำงาน การใช้ชีวิตในองค์กร วัฒนธรรมการทำงาน เป็นต้น
  3. การถ่ายทอดความรู้และจัดการความรู้ (Knowledge Management) ให้คงอยู่ และสามารถนำมาพัฒนาองค์กร จากรุ่นสู่รุ่นได้
  4. ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร เกิดการสร้างเครือข่าย และความสามัคคีที่ดีในการทำงาน

อ่านบทความเพิ่มเติม >> ระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) สำหรับการจัดการความรู้ (1449 downloads )

แบบทดสอบ และแบบประเมินสื่อวิดีโอให้ความรู้ (KM Learning)

ขอขอบคุณ/แหล่งที่มา
ศุภวิทย์ ภาษิตนิรันดร์ (เซนเซเล็ก), พญ.ญาณี โชคสมงาม. (2564). “KM KNOWLEDGE MANAGEMENT”. สำนักพิมพ์วิช, กรุงเทพฯ.

เรียบเรียงโดย
นายเอกราช จันทรประดิษฐ์
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.