ถอดประสบการณ์ความสำเร็จ รางวัล KM Award
เรื่องเล่า งานคุณภาพกับการเป็นพยาบาลประสานงาน
พว.วรารัตน์ บุญณสะ หน่วยพัฒนาองค์กรและคุณภาพงาน
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
แรงบันดาลใจในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “เรื่องเล่าสร้างแรงบันดาลใจ (KM Award 2024)” ของ พว.วรารัตน์ บุญณสะ จาก หน่วยพัฒนาองค์กรและคุณภาพงาน ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คือคำว่า “ทำให้เด็กมันดู” หมายถึง การทำงานให้น้องใหม่ในหน่วยงานเห็นว่า ถึงแม้หน่วยงานจะทำงานเบื้องหลัง ไม่ใช่หน่วยงานทางคลินิกโดยตรง แต่องค์ความรู้ที่เกิดจากการทำงานสามารถถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์ได้ โดยเรื่องราวที่ถ่ายทอดสู่เรื่องเล่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานประจำ แม้บางครั้งจะต้องเจอกับงานที่ไม่คุ้นเคย จะต้องพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอเหมือน “น้ำที่ไม่เต็มแก้ว” พว.วรารัตน์ เล่าว่า ในช่วงแรกที่ทำงานในภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด มีเป้าหมายเรื่องการขอรับการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค (Program and Disease Specific Certification: PDSC) ทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งจะขอรับรองเป็นที่แรกของประเทศไทย แต่องค์ความรู้ในช่วงแรกของการทำงานเรียกได้ว่าเป็น 0 จึงต้องเพิ่มพูนความรู้ต่าง ๆ รวมถึงการได้รับโอกาสจากหัวหน้าภาควิชาซึ่งในขณะนั้นคือ ศ. นพ.ภานุพันธ์ ทรงเจริญ และรองหัวหน้าภาควิชา ฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คือ ผศ. นพ. บวรรัฐ วนดุรงค์วรรณ ส่งไปเรียนรู้จาก สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จนกระทั่งได้เป็น 1 ในผู้เยี่ยมของ สรพ. นอกจากเรื่องการพัฒนาคุณภาพในงานแล้ว ยังมีอีก 1 บทบาทที่ท้าทาย คือการทำหน้าที่เป็นพยาบาลประสานงานในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยที่กระดูกหัก ไม่ให้เกิดกระดูกหักซ้ำ หรือโครงการ Fracture Liaison Service ต้องขอขอบพระคุณ ศ. นพ.อาศิส อุนนะนันทน์ ที่ชักชวนให้เข้ามาทำงาน ตั้งแต่ได้เริ่มทำงานกับทางทีมก็เรียกได้ว่าเป็นที่แรก ๆ ที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ มองว่าเป็นโอกาสที่ได้เริ่มอะไรใหม่ ๆ นับว่าเป็นการเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ อาจจะมีบางอย่างที่ทำไม่ได้ตามเป้าหมายไปบ้าง แต่ทุกอย่างล้วนทำให้เราเกิดการเรียนรู้
แนวทางในการเขียนเรื่องเล่าส่งประกวดในครั้งนี้จึงเป็นการเล่าเรื่องราวของตนเอง จากประสบการณ์จริง ทั้งเรื่องที่ดี และเรื่องที่ไม่ดี เรื่องที่ต้องพัฒนาปรับปรุง แต่เรื่องราวเหล่านี้นับว่าเป็นความรู้ที่จะถ่ายทอดสู่ผู้อื่นให้ได้เรียนรู้ เพื่อที่จะไม่ต้องทำผิดซ้ำ หรือเสียเวลาในการเริ่มใหม่
พว.วรารัตน์ บุญณสะ จะส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้กับน้อง ๆ รุ่น ต่อไปได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร ก็สามารถจัดการความรู้ (KM) ได้ เผยแพร่ความรู้ให้ชาวศิริราชได้รับรู้ว่า การทำงานร่วมกันโดยเฉพาะในภาควิชา จำเป็นต้องมีคนที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง ประสานงานกับทีมนำ ผู้รับผลงาน ผู้ป่วย และผู้ปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับจุดเน้นของคณะฯ จากตัวอย่างของภาควิชาคือการขอตรวจการรับรองเฉพาะโรคจนกระทั่งได้การรับรองโรคที่สอง คือ Acute Geriatric hip fracture นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ร่วมพัฒนา Guideline การดูแลผู้สูงอายุที่มีกระดูกสะโพกหัก ของประเทศไทย และคุณวรารัตน์ ยังเป็นพยาบาล 1 เดียวในทีม ที่ได้เข้าร่วมงานกับทีมในระดับนานาชาติของ Fragility fracture network ในส่วนของ Refracture prevention หรือการป้องกันการหักซ้ำ เป็นทีมที่มีสหสาขาวิชาชีพจากทั่วโลก ทั้ง แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกำหนดอาหาร นักกิจกรรมบำบัด และนักวิจัย ที่ทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการหักซ้ำ และในปีนี้เรามีโครงการวิจัยร่วมกันในเรื่องของการหา Competency ของคนที่ทำหน้าที่ในการทำ Fracture Liaison service ว่าควรต้องมีความรู้ความสามารถอะไรบ้าง เพื่อพัฒนาต่อยอดการทำงานต่อไป
ดาวน์โหลดได้ที่ บทความ งานคุณภาพกับการเป็นพยาบาลประสานงาน