บทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 25
ภายใต้แนวคิด “Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability
สร้างวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อความยั่งยืนในอนาคต”
เรื่อง ปาฐกถาพิเศษ “การแพทย์และสาธารณสุขเพื่อกลุ่มเปราะบางสู่ความยั่งยืน”
วันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 เวลา 09.30 – 10.00 น.
ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom (200) ศูนย์การประชุม IMPACT FORUM เมืองทองธานี

วิทยากร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย

กลุ่มเปราะบาง ในระบบสุขภาพไทยมีความหลากหลาย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ประชากรในถิ่นทุรกันดาร และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งในประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีแต่ยังมีความท้าทายอยู่มาก ในการดูแลกลุ่มเปราะบางนั้นถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง โดยระบบที่ดีต้องทั่วถึงและเป็นธรรม

การดูแลกลุ่มเปราะบางในประเทศไทยถือเป็นกลยุทธ์สำหรับบุคลากรสาธารณสุข โดยการพัฒนาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขสำหรับกลุ่มเปราะบาง ต้องมีองค์ประกอบที่นอกเหนือจากบริการทางการแพทย์ทั่วไป นั่นคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล

โมเดล บ ว ร เป็นแนวคิดดั้งเดิมที่มีความสำคัญในการดูแลสุขภาพชุมชนแบบองค์รวม คือ

  • บ้านเป็นศูนย์กลางของครอบครัวและชุมชน เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางกายและจิตใจ
  • วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางสังคม เป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ด้านสุขภาพ และจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย
  • โรงเรียนเป็นแหล่งพัฒนาศักยภาพเยาวชน ผ่านการศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่วัยเยาว์ โดยจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

กลุ่มเปราะบางที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่

          1) เด็กและเยาวชน โดยการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนพระดาบส การพัฒนาสมอง โดยเฉพาะในเด็กกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability) และเด็กออทิสติก (Autism) และการส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะทุพโภชนาการและส่งเสริมพัฒนาการสมวัย

          2) ผู้พิการ การสร้างสังคมที่เท่าเทียม สนับสนุนระบบสุขภาพที่ครอบคลุม เช่น การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพ ปรับสภาพแวดล้อมและกระบวนการที่เอื้อต่อผู้พิการ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านโครงการฝึกอาชีพและการสร้างงานตามความเหมาะสม และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้พิการในชุมชน

          3) ผู้สูงอายุ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ ได้แก่ การพัฒนาระบบบริการดูแลระยะยาว (Long-term care) ที่ครอบคลุมทั้งในสถานพยาบาลและชุมชน การส่งเสริมการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุ ตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุ และการบูรณาการระบบดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือจากครอบครัว อาสาสมัคร และองค์กรท้องถิ่น

          4) ผู้ยากไร้และผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีโครงการที่หมอไปหาคนไข้เพื่อการเข้าถึงบริการที่ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น Telemedicine สำหรับพื้นที่ห่างไกลเพื่อสะดวกในการปรึกษาแพทย์ และระบบเครือข่ายช่วยเหลือฉุกเฉิน ในภาวะวิกฤต

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> การแพทย์และสาธารณสุขเพื่อกลุ่มเปราะบางสู่ความยั่งยืน

ผู้บันทึกบทเรียน
นายเอกกนก พนาดำรง
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

อ่านบทเรียน HA National Forum อื่น ๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *