บทเรียนการประชุมงานมหกรรมคุณภาพ (Quality Fair) ประจำปี 2566
เรื่อง “ESG ผสานกลยุทธ์ สร้างคุณค่าระยะยาวกับองค์กร”
วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 เวลา 10.15-12.00 น.
ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 และ
ถ่ายทอดสดผ่านระบบเน็ตเวิร์ค SiBN, IPTV, Facebook งานพัฒนาคุณภาพ

วิทยากร
คุณพนอจันทร์ จารุรังสีพงศ์
ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร และ
GRI Certified Sustainability Professional

ผศ. นพ.อนุวัฒน์ สุตัณฑวิบูลย์
รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ผู้ดำเนินการอภิปราย
รศ. พญ.อรอุมา  ชัยวัฒน์
รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

คุณพนอจันทร์ จารุรังสีพงศ์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินการเรื่อง ESG กับการวางแผนกลยุทธ์และทิศทางของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยคุณพนอจันทร์เล่าถึงความสำคัญของความยั่งยืนหรือ sustainability ว่า เป็นการรักษาความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างที่เราเป็น ไปยังคนรุ่นถัดไป คนในรุ่นปัจจุบันจึงจำเป็นต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม ให้ยั่งยืน เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนในรุ่นปัจจุบันจะมีผลส่งต่อไปยังอนาคตด้วยเช่นกัน การที่จะไปสู่ความยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องง่าย เศรษฐกิจต้องดีขึ้น ไปพร้อม ๆ กับสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (sustainable development) โดยมี 17 เป้าหมายสำคัญที่แก้ปัญหา และนำไปสู่ความยั่งยืน คณะฯ สามารถเชื่อมโยงกับเป้าหมายเหล่านี้ได้ จาก value chain ทำให้เห็นกระบวนการทำงานพันธกิจการศึกษา บริการ วิจัย มีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในการทำงาน มีการส่งมอบการบริการให้กับลูกค้าทั้งภายใน และภายนอก ล้วนมีของเสียจากการดำเนินการทั้งสิ้นที่จะส่งผลกระทบต่อโลก และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ผู้รับบริการ ลูกค้า ชุมชน สังคม ซึ่งมีทั้งเชิงบวก เช่น ผู้รับบริการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดีของศิริราชได้อย่างง่าย ลดระยะเวลารอคอย แต่ในเชิงลบ เช่น การทำวิจัย เกิดของเสียแล้วไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ส่งผลให้คนในชุมชนติดเชื้อได้ ซึ่งองค์กรที่จะสามารถดำเนินการต่าง ๆ ให้ยั่งยืน จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งเป็นการใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบันนับเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีการวางแผนจัดการในอนาคตเมื่อแผงโซล่าเซลล์หมดอายุ จะจัดการขยะเหล่านั้นอย่างไร องค์กรภาครัฐ เอกชน ชุมชน ครอบครัว หรือตัวบุคคล ทุกคนสร้างผลกระทบให้กับโลก โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องวางแผนจัดการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยภายนอกองค์กรที่เกิดขึ้น (inward impact) กลับเข้ามากระทบต่อองค์กร ทั้งการเงิน ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว เช่น global challenges, global megatrends, climate change, social concerns, human rights และ law & regulations เป็นต้น องค์กรจึงต้องคำนึงถึงในเรื่องการบริหารจัดการในส่วนผลกระทบที่มีโอกาสเกิดขึ้น

จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อการดำเนินการ จะนำไปสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนได้นั้น ต้องมองในเรื่อง 1. การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเงิน 2. การจัดการของเสียจากสิ่งแวดล้อม (environmental footprints) และ 3. ความแข็งแรงของบุคลากรและชุมชน Good social well-being สิ่งที่ทำให้เห็นว่าองค์กรมีความยั่งยืนแล้ว สามารถดูได้จากงบการเงินในปัจจุบัน และผลการดำเนินงานที่ไม่ใช่เรื่องการเงิน คือ

Environmental การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำและน้ำทิ้ง มลพิษอากาศ ขยะของเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพ

Social ความหลากหลายความเท่าเทียม การยอมรับและการมีส่วนร่วมทางสังคม การปฏิบัติด้านแรงงาน การดูแลรักษาพนักงาน การพัฒนาทุนมนุษย์ ความเป็นอยู่ของชุมชน อาชีวอนามัย ความปลอดภัย ความรับผิดชอบต่อลูกค้า

Governance การกำกับดูแลกิจการ การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น จริยธรรมทางธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับ การรักษาความลับ ห่วงโซ่อุปทาน ผลดำเนินการทั้ง 3 ด้านจะเป็นตัวบ่งบอกถึงการเติบโตและยั่งยืนในอนาคตได้

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> ESG ผสานกลยุทธ์ สร้างคุณค่าระยะยาวกับองค์กร

ผู้บันทึกบทเรียน
นางสาวปารวี สยัดพานิช
งานจัดการความรู้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.