บทเรียนการประชุมงานมหกรรมคุณภาพ (Quality Fair) ประจำปี 2567
ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Quality for One Siriraj”
วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 09.45-10.20 น.
ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 และ
ถ่ายทอดสดผ่านระบบเน็ตเวิร์ค SiBN, IPTV, Facebook งานพัฒนาคุณภาพ
วิทยากร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ความสำคัญกับคำว่า “คุณภาพ” มาโดยตลอด นับตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 โดย 25 ปีที่ผ่านมาได้มีการวางแผนแนวทางการทำงานระบบคุณภาพอย่างชัดเจน คณาจารย์ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทุกสาขา ภาควิชา ร่วมกันทำงานอย่างตั้งใจ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แต่ยังรวมถึงโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก นครปฐม ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช สมุทรสาคร ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต หรือ Siriraj H Solution ก็เน้นถึงเรื่องการพัฒนาระบบคุณภาพเช่นกัน ซึ่งกำหนดให้บุคลากรทุกท่านมีความเท่าเทียม และมีหน้าที่ในการสร้างคุณค่า และผลงาน ให้กับองค์กร รวมถึงประเทศไทย
ยุทธศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ได้ประกาศให้บุคลากรทราบเมื่อปีที่แล้ว เป็นวิสัยทัศน์ที่ชาวศิริราชร่วมกันคิด ที่อยากให้ศิริราชเป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ที่สร้างองค์ความรู้และบริการอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพระดับโลก ซึ่ง Core competency สำคัญ คือ การบูรณาการ (Integration) ทุกพันธกิจให้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน เช่น ด้านการเรียน การสอน การวิจัย การรักษาพยาบาล ระบบสารสนเทศ ทรัพยากรบุคคล การจัดซื้อจัดจ้าง รวมไปถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาควิชาทางคลินิกและปรีคลินิก หรือในส่วนระดับโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ได้ริเริ่มทำการวิจัยร่วมกับการบริการทางการแพทย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มีการบริการและการเรียนการสอนควบคู่กัน โดยในอนาคตจะเริ่มมีการทำงานวิจัยตามมา ถึงแม้ว่าแต่ละแห่งจะมีวัตถุประสงค์และบริบทที่แตกต่างกัน แต่มีความเชื่อมโยงช่วยเหลือ สนับสนุนข้อมูลซึ่งกันและกัน เพราะแพทย์ พยาบาล บุคลากรจะต้องนำองค์ความรู้ การวิจัยมาใช้ในการรักษา หรือการเรียนการสอน ในทางกลับกัน สิ่งที่ได้รับจากการรักษา การเรียนการสอน ก็ถูกนำไปใช้ในการพัฒนางานวิจัยอย่างสัมพันธ์กัน
นอกจากนี้สิ่งที่ผสานความเป็นบุคลากรของศิริราช และนำไปใช้เพื่อยึดมั่นในการทำงาน คือ “วัฒนธรรมศิริราช” ทั้งความรักกันดุจพี่น้อง (Seniority) ความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง และความเชื่อถือได้ (Integrity) ความรับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ ตรงต่อเวลา (Responsibility) ความคิดสร้างสรรค์ (Innovation) การให้เกียรติ เอาใจเขามาใส่ใจเรา (Respect) การคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง (Altruism) และความมุ่งมั่นพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน (Journey to Excellence and Sustainability) โดยจะมี 3 ใน 7 ข้อ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของ “อัตลักษณ์ของคนศิริราช” คือ Altruism, Integrity และ Responsibility หรือ AIR เป็น 3 ข้อ ที่สะท้อนออกมาจากวิถีชีวิต วิธีคิด วิธีการทำงานของคนศิริราช และทำให้เห็นได้ว่านี่แหละคือความเป็น “One Siriraj”
จุดเน้นการพัฒนาคุณภาพ ตามที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กำหนดมาตั้งแต่อดีต เริ่มจาก “SAE-HI” (ปี 2551 – 2554) “HEROES” (ปี 2555 – 2558) “ExCELS” (ปี 2559 – 2562) และ “CEE.EO” (ปี 2563 – 2566) เป็นต้นมา เพื่อเป็นการสื่อสารสู่การปฏิบัติให้บุคลากรของคณะฯ ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานประจำ ให้เกิดความเชื่อมโยงในทิศทางเดียวกัน มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ของคณะฯ ในปีนี้ได้ทบทวน และกำหนดจุดเน้นใหม่ คือ ECHO ประกอบด้วย
- Engagement: การสร้างความผูกพันกับลูกค้า stakeholder และการสร้างความผาสุกของบุคลากร สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี
- Contributions: การสร้างประโยชน์ให้สังคม การสนับสนุนชุมชน (Community Support) สร้างความยั่งยืนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการ 3R (Reduce ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานที่ไม่จำเป็น Reuse การนำกลับมาใช้ซํ้า และ Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่)
- High-performance Organization: องค์กรที่มีสมรรถนะสูง น่าไว้วางใจ มีการสร้างบรรยากาศวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรจนถูกปลูกฝังลงไปในวิถีการปฏิบัติงานขององค์กร
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >> Quality for One Siriraj
ผู้บันทึกบทเรียน
นายเอกราช จันทรประดิษฐ์
งานจัดการความรู้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทร. 0 2419 9009, 0 2419 9750 ต่อ 501-507
อ่านบทเรียนและเรื่องเล่าอื่นจาก งานมหกรรมคุณภาพ (Quality Fair)