บทเรียนการประชุมงานมหกรรมคุณภาพ (Quality Fair) ประจำปี 2567
เรื่อง “Integration of Knowledge Management for Healthcare Innovation”
วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 14.30-15.45 น.
ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 และ
ถ่ายทอดสดผ่านระบบเน็ตเวิร์ค SiBN, IPTV, Facebook งานพัฒนาคุณภาพ
วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ผศ. พญ.พัทยา เฮงรัศมี (ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
นพ.พิพิธ ปิตุวงศ์ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก)
ดร.จุฬาดา ธนาบดินทร์ (ผู้จัดการฝ่ายการพยาบาลผู้ป่วยสัมพันธ์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์)
น.ส.พราวพลอย เประยะโพธิ์เดช (หน่วยพัฒนาประสิทธิภาพและนวัตกรรม โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์)
นายภานุวัฒน์ บุตรฉม้อย (หน่วยพัฒนาประสิทธิภาพและนวัตกรรม โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์)
ดำเนินการอภิปราย โดย
รศ. นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ (รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน มหาวิทยาลัยมหิดล)
นวัตกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการพัฒนาระบบสุขภาพ การทำเรื่องมาตรฐานเมื่อถึงจุดหนึ่งอาจไม่เพียงพอ อนาคตมีความท้าทายต่าง ๆ เข้ามา ผู้รับบริการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันบุคลากรอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เข้ารับบริการ ถ้ายังใช้วิธีเดิมกระบวนการเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ที่นำการบูรณาการจัดการความรู้ ไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ของทั้ง 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยมีการวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการผู้รับบริการ และใช้กระบวนการจัดการความรู้ สร้างนวัตกรรมสู่การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ
ผศ. พญ.พัทยา เฮงรัศมี เล่าถึงประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรมของศูนย์ฝึกอบรมผ่าตัดสหสาขาผ่านกล้องไทย-เยอรมัน โรงพยาบาลศิริราช สิ่งที่ทางทีมได้พัฒนาขึ้น เป็นนวัตกรรมที่เรียกว่า TG-MET morcellation bag โดยที่มาของการสร้างนวัตกรรมนี้คือ ปัญหาในการเอาเนื้อเยื่อที่เป็นก้อนใหญ่ ๆ ออกจากช่องท้อง ทำอย่างไรให้ผ่าตัดออกทางกล้องที่เป็นช่องเล็ก ๆ ได้ โดยที่ไม่ต้องขยายแผล ทำให้ก้อนเนื้อเยื่อแตก ผู้ป่วยปลอดภัย ปราศจากการติดเชื้อ และลดระยะเวลาในการผ่าตัด โดยขณะทำการผ่าตัด จะมีการตัดชิ้นเนื้อเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้ดึงออกทางกล้อง ซึ่งมีโอกาสที่มีเศษชิ้นเนื้อหรือสารน้ำไปกระจายอยู่ในส่วนอื่น ๆ ของช่องท้องได้
morcellation เป็นการทำให้ชิ้นเนื้อที่มีขนาดใหญ่ สามารถผ่าตัดผ่านการส่องกล้องได้ ทั้งรูปแบบตัดเป็นชิ้นเนื้อหรือปั่นชิ้นเนื้อ เมื่อไม่ได้ใส่ถุงย่อมมีโอกาสเกิดความเสี่ยงกับผู้ป่วยที่ชิ้นเนื้อไปกระจาย และเติบโตอย่างต่อเนื่องในจุดอื่นถ้าเนื้องอกนั้นพบเป็นเซลล์มะเร็ง อาจเพิ่มระดับความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคไปยังจุดอื่น กับผู้ป่วยรายนั้น
แนวทางการป้องกันการแพร่กระจายของชิ้นเนื้อ จากการผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้องแบบเดิม แต่เพิ่ม morcellation bag เพื่อลดการปนเปื้อน ปัจจุบันทางองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration) ของประเทศสหรัฐอเมริกา 2563 ยังได้ออกคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยเน้นย้ำให้มีการใช้ถุงเก็บชิ้นเนื้อที่ได้มาตรฐานและได้รับการอนุมัติให้วางจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย สำหรับการผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนขณะปั่นเนื้อด้วยเครื่องปั่นเนื้อ
การสร้างนวัตกรรม TG MET morcellation bag เริ่มจากทางทีมมีการนำข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดซึ่งมีประมาณ 1,000 ราย/ปี ประมาณ 2 ใน 3 ต้องทำการผ่าตัดแบบส่องกล้องตัดชิ้นเนื้อ จึงมีความจำเป็นในการใช้ morcellation bag แต่ในปัจจุบันที่ใช้อยู่มีขายตามท้องตลาดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสูง ไม่มีช่องในการใส่เครื่องมือ ทำให้ไม่สะดวกในการทำหัตถการ จึงมีการศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนา morcellation bag ที่ป้องกันการรั่วซึม ยืดหยุ่น เมื่อใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปภายในถุง ถุงจึงสามารถพองตัว ทำให้ภายในถุงมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการปั่นเนื้อได้รอบทิศทาง ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยขณะปั่น ป้องกันการกระจายและการปนเปื้อนของเศษเนื้อ ใช้งานง่าย ราคาไม่สูงจนเกินไป จากนั้นทางทีมร่วมกันพิจารณาว่า ชิ้นเนื้อลักษณะต่างกัน ควรใช้ morcellation bag แบบใด ต้องมีช่องใส่กล้อง ช่องใส่มือผู้ช่วยแพทย์ โดยไม่มีการเจาะถุง และทางทีมจึงพัฒนานวัตกรรม morcellation bag ที่ผลิตจากพลาสติกกันความร้อน ออกได้เป็น 1-tail, 2-tail และ 3-tail ตามจำนวนของช่อง โดยมีจุดมุ่งหมายในการใช้งานแตกต่างกัน
ในช่วงแรกที่มีการใช้นวัตกรรม TG MET morcellation bag ยังเป็นการเรียนรู้ลองผิดลองถูก มีการทำ CQI ปรับมาหลายรอบ มีการค้นหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งต่าง ๆ จนกระทั่งทางทีมเริ่มชำนาญ จึงมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านทาง TG MET webinars รวมถึงการจัดกิจกรรม hands on workshop และผลลัพธ์จากการดำเนินการที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2561 – 2566 พบว่า 1. สามารถป้องกันการกระจายของเซลล์มะเร็ง และระยะของโรคไม่เปลี่ยนแปลง เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูก 2. ลดระยะเวลาในการเตรียมถุง และเวลาในการหั่นชิ้นเนื้อลดลง เนื่องจากแพทย์มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในการทำหัตถการเพิ่มขึ้น 3. ช่วยประหยัดเวลาในการเก็บเศษเนื้อและทำความสะอาดช่องท้องภายหลังจากการปั่นเนื้อแบบไม่ใช้ถุง
หลังจากที่มีการเผยแพร่นวัตกรรม TG MET morcellation bag ออกไป ทางทีมมีการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมต่อเนื่อง มีการเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วม workshop รวมถึงเปิดจำหน่าย ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลศิริราช และความภาคภูมิใจของทีมคือ นวัตกรรม TG MET morcellation bag ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติของ Royal College และรางวัลเลิศรัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ
นพ.พิพิธ ปิตุวงศ์ เล่าถึงประสบการณ์จากการทำงานเป็นรังสีแพทย์ร่วมรักษา ซึ่งมีโอกาสในการใช้สร้างนวัตกรรมทางการรักษา รวมถึงการใช้การจัดการความรู้ในการทำงานของทีมในการดูแลผู้ป่วย โดยการทำงานของทีมแพทย์นั้น ใช้เครื่องมือทางรังสีเป็นตัวนำทางอุปกรณ์ต่าง ๆ สู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างแม่นยำ เช่น การใส่สายสวนในหลอดเลือดและใช้อุปกรณ์อุดหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยสมองตีบ แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน จะดำเนินการใส่สายสวนอุดหลอดเลือดแทนการผ่าตัดหรือให้ยาละลายลิ่มเลือด หลังจากใส่สายสวนดึงลิ่มเลือดออกมาแล้ว ผู้ป่วยจะกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนั้นถ้าพบผู้ป่วยมะเร็งตับแพทย์จะใส่เข็มเข้าไปที่ตับ จี้ทำลายก้อนเนื้อด้วยความแม่นยำ โดยยึดหลักการที่ว่า “รังสีนำ แม่นยำชัวร์ ฟื้นตัวไว”
ในส่วน Healthcare innovation ทางรังสีจะมีอุปกรณ์ เครื่องมือจำนวนมากในการดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่ เครื่องultrasound จะมี fusion ultrasound ที่ช่วยสร้างความแม่นยำในการแสดงผลโดยดึงภาพจาก CT scan หรือ MRI มาวางเทียบกับ ultrasound ซึ่งช่วยใส่เข็มได้แม่นยำในตำแหน่งที่ ultrasound เห็นไม่ชัด อีกเครื่องมือที่สำคัญคือ เครื่อง C arm แบบ High definition imaging เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ และช่วยในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนั้น เครื่องยังสามารถช่วยสร้างภาพจาก AI ได้ ทำให้เห็นภาพตำแหน่งที่ต้องทำการรักษาได้ชัดเจน เครื่องมือเหล่านี้เป็น innovation ที่มีความซับซ้อน ในช่วงแรกยังมีความยุ่งยากในการใช้งาน แต่ทางทีมมีการนำการจัดการความรู้เข้ามาใช้ ซึ่งเริ่มจากการกำหนดความรู้ที่สำคัญคือ การใช้งานเครื่อง X-ray โดยทีมเรียนรู้การทำงานของเครื่องจากบริษัทต้นทาง และนักรังสี มีการสกัด และถอดความรู้ที่เป็นประสบการณ์จากผู้ใช้งานจริง (tacit knowledge) ออกมา เพื่อแบ่งปันเรียนรู้ร่วมกัน สิ่งสำคัญคือ ต้องการรับ case ผู้ป่วยให้มาก เพื่อให้บุคลากรในทีมได้ฝึก และเรียนรู้ร่วมกัน
ก่อนหน้านี้ทางศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มีผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงเป็นจำนวนมาก กลุ่มโรคอันดับแรกคือ OA knee โดยการรักษาใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าทางหลอดเลือด ปล่อยสารอุดหลอดเลือดเพื่อลดการอักเสบโดยไม่ทำให้กระดูกขาดเลือด ผู้ป่วยปลอดภัย
นอกจากนั้น นพ.พิพิธ ได้มีการคิดค้น Innovation โดยมีหลักคิด 3 อย่าง เป็นสิ่งใหม่ เกิดแนวคิด และมีคุณค่า อาจเป็นเรื่องใหม่ทั้งในโรงพยาบาลหรือระดับประเทศ เกิดแนวคิดที่ช่วยทำให้ระบบ กระบวนการ lean ขึ้น คุณค่าที่ออกมาคือ ผู้ป่วยได้รับการบริการที่รวดเร็ว อย่างปลอดภัย เมื่อดำเนินการมาระยะหนึ่ง บุคลากรเริ่มมีความเชี่ยวชาญ จึงจัดตั้งเป็น Referral center เพื่อช่วยแบ่งเบาจำนวนผู้ป่วยจากโรงพยาบาลศิริราช โดยกระบวนการเริ่มจากศิริราชติดต่อมาที่ Referral center ส่งให้ IR doctor คุยกับแพทย์ต้นทาง ถ้าสามารถดำเนินการได้จะส่งต่อให้ IR nurse รับเวรกับพยาบาลต้นทาง และดำเนินการตรวจสอบเรื่องสิทธิต่าง ๆ ทำให้ข้อมูลที่ได้รับมีความถูกต้องชัดเจน โดยขณะนี้มีโรงพยาบาลใกล้เคียงที่ทำการส่งต่อผู้ป่วย อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลบ้านแพ้ว โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลกาญจนบุรี ช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ป่วย ลดระยะเวลาการเดินทาง ผู้ป่วยปลอดภัย โดยเฉพาะลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช สุดท้ายทางทีมเห็นความสำคัญมากมีการจัดตั้งคณะทำงาน PCT IR
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >> Integration of Knowledge Management for Healthcare Innovation
ผู้บันทึกบทเรียน
นางสาวปารวี สยัดพานิช
งานจัดการความรู้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โทร. 0 2419 9009, 0 2419 9750 ต่อ 501-507
อ่านบทเรียนและเรื่องเล่าอื่นจาก งานมหกรรมคุณภาพ (Quality Fair)