
บทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 25
ภายใต้แนวคิด “Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability
สร้างวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อความยั่งยืนในอนาคต”
เรื่อง AI-Powered Healthcare ปลดล็อกศักยภาพผู้ช่วยแพทย์ยุคดิจิทัล
วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2568 เวลา 10.30 – 12.00 น.
ณ ห้องสัมมนา Sapphire 119 ศูนย์การประชุม IMPACT FORUM เมืองทองธานี
วิทยากร
ณรงค์ชัย ลิมป์ปิยาภิรมย์
บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้ดำเนินรายการ
นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์
ศูนย์นวัตกรรมข้อมูลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และภาคเอกชน คือ บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด ในการพัฒนาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในวงการแพทย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์
AGI (Artificial General Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป หรือระบบที่มีความสามารถในการเรียนรู้ และทำงานในหลาย ๆ ด้านเหมือนมนุษย์ ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิก (computer graphics) โดยเปรียบเทียบการสร้างภาพหรือวิดีโอที่เคยต้องใช้เวลานานในอดีต กับปัจจุบันที่สามารถสร้างภาพได้สมจริงภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีด้วย AI จากการพิมพ์คำสั่ง (Prompt) เข้าไปใน Chat GPT ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ถ้าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เร็ว และเปลี่ยนแปลงได้ก่อนจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่ทำได้
สำหรับทางการแพทย์ ปัจจุบัน model AI เช่น GPT-4o และ o1-preview มีความสามารถในการทำข้อสอบทางการแพทย์ (MCQ test) ได้คะแนนสูงมาก เช่น GPT-4o ได้ 88.2%, o1-preview ได้ 96.5% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้การนำ AI มาใช้ในการวินิจฉัยหรือรักษาโรคโดยตรงอาจยังไม่แม่นยำ และ AI ยังไม่สามารถทดแทนบุคลากรทางการแพทย์ได้ทั้งหมด แต่ AI นั้น จะเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ช่วยสนับสนุนการทำงาน ทำให้บุคลากรมีเวลาพักผ่อนหรือทำงานในส่วนสำคัญที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะได้มากขึ้น โดยจะต้องผ่านกระบวนการและข้อกำหนดต่าง ๆ สำหรับทางการแพทย์
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI สนับสนุนทางการแพทย์
- ลดปัญหาการอ่านลายมือ และการบันทึกข้อมูลอัตโนมัติ โดย AI สามารถช่วยแปลงลายมือแพทย์ให้เป็นข้อความได้
- ถอดเสียงพูดระหว่างการซักประวัติผู้ป่วย โดยแยกเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาออก และแปลภาษาระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ให้เข้าใจกันได้มากขึ้น
- ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและให้คำแนะนำการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ เช่น ภาพเอกซเรย์ และการส่องกล้อง โดย โปรดักส์ ภายใต้ แคริว่า ได้รับรางวัลอันดับ 4 ของโลก ในงาน BioNLP ACL’24 ซึ่งเป็นการแข่งขันการใช้ AI สร้างรายงานรังสีวิทยาระดับโลก และยังได้ ISO สำหรับการใช้ส่องตรวจอวัยวะภายใน ซึ่งอยู่ในกระบวนการขอเครื่องหมาย อย.
- ช่วยประเมินภาวะสุขภาพเบื้องต้นจากข้อมูลต่าง ๆ เช่น การถ่ายภาพอาหารผ่านแพลตฟอร์ม “กินดี” ที่ได้พัฒนาและนำมาใช้งานบนระบบ LINE ที่คนไทยคุ้นเคยและใช้งานง่าย โดยมีการเทรนข้อมูลจากอาหารไทย และดีไซน์ข้อความให้อ่านเข้าใจง่าย ซึ่ง AI จะช่วยประเมินปริมาณแคลอรี่อาหาร และวิเคราะห์ได้ว่าอาหารอะไรที่ควรรับประทานให้เหมาะสมกับบุคคล และไม่เกิดโรค หรือถ้าเป็นผู้ป่วยควรจะต้องรับประทานอาหารชนิดใด ปริมาณเท่าไร และแพทย์ยังสามารถดูข้อมูลรายการอาหารย้อนหลังได้ ทำให้ง่ายต่อการรักษาและประเมินผู้ใช้งาน “กินดี” ว่าเป็นกลุ่มความเสี่ยงน้อย หรือ กลุ่ม NCDs หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เป็นต้น
- ช่วยคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น ผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่เหมาะสมตามความเร่งด่วน ลดการโต้เถียงของผู้ป่วย
เมื่อมีการดำเนินการหรือพัฒนาเกิดขึ้น ควรต้องมีการตีพิมพ์ เพื่อให้เกิดความเชื่อถือมากขึ้นด้วย ซึ่งในอนาคต AI จะสามารถ detect รอยโรคได้เร็วขึ้น โดย AI อาจคาดการณ์รอยโรคจากภาพทรวงอกของผู้ป่วยรายหนึ่ง แล้วพบว่าผู้ป่วยรายนั้นจะมีโรคเบาหวานตามมาในอนาคต หรือใช้ AI ประเมินภาพจอประสาทตา แต่คาดการณ์ได้ว่าจะเป็นโรคพาร์กินสันร่วมในอนาคต
การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ของไทย มีการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาแนวทางที่สามารถช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปได้จริง โดยเน้นการสร้างแนวทางที่ใช้งานง่าย และตรงกับความต้องการของคนไทยเป็นสำคัญ ทั้งนี้การทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ที่มีความต้องการ มีแนวคิดและวิธีการ กับวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI บางครั้งการสื่อสารและการทำความเข้าใจร่วมกันเป็นเรื่องที่ท้าทาย จึงควรมีการปรับมุมมอง โดยแพทย์ควรอธิบายถึง pain point และปัญหาที่แท้จริงให้ชัดเจนและกระชับ เพื่อให้ทีมพัฒนาเข้าใจและสามารถสร้างแนวทางแก้ปัญหาได้ตรงจุด และควรสร้าง connector ผู้ที่เข้าใจทั้งด้านการแพทย์และ AI ที่จะช่วยให้การสื่อสารระหว่างสองฝ่ายเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแนวทางการพัฒนาโซลูชัน AI ไม่จำเป็นต้องเป็น AI ที่เก่งที่สุดในโลก แต่ควรเป็น AI ที่เน้นประโยชน์ในการใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มต้นจากการระบุปัญหาและความต้องการของผู้ใช้งาน นำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาปรับใช้ในบริบทใหม่ เพื่อสร้างให้เกิดโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการ และควรใช้งานง่าย แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับชัดเจน เพื่อสร้างให้ผู้ใช้งานเกิดแรงจูงใจในการนำไปใช้ โดยคนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้ และบุคลากรทางการแพทย์ได้ประโยชน์ด้วย
ระบบ AI สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จะช่วยลดภาระงานในการบันทึกข้อมูลและออกคำสั่งการรักษาของแพทย์ ช่วยประหยัดเวลาในการทำเอกสารและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย โดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบ AI อย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อความแม่นยำและความสามารถในการใช้งาน หรือการปรับให้เข้ากับบริบทของไทย สามารถใช้งานในสำเนียงไทยได้ แต่ทั้งนี้ยังมีความท้าทายสำหรับการรองรับภาษาท้องถิ่น เนื่องจากไทยมีภาษาท้องถิ่นที่หลากหลายจึงยากต่อการทำให้ AI เข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ทั้งหมด และการนำข้อมูลบางอย่างมาใช้พัฒนาอาจยังมีข้อจำกัดด้านข้อกฎหมาย โดยจากการดำเนินงานร่วมกันมีแผนที่จะขยายผลไปยังบุคลากรทางการพยาบาล และสาขาอื่น ๆ เพิ่มเติม
ดาวน์โหลดบทความได้ที่ >> AI-Powered Healthcare ปลดล็อกศักยภาพผู้ช่วยแพทย์ยุคดิจิทัล
ผู้บันทึกบทเรียน
นางสาวชลิตา มิ่งขวัญ
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล