พลวัตการเรียนรู้ (Learning Dynamic) หมายถึง การให้โอกาสหรือสร้างการเรียนรู้แก่บุคลากรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ตอบสนองเป้าหมายขององค์กร
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม และสนับสนุนให้มีการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ทั้งแบบเฉพาะหน่วยงาน แบบสหสาขา และข้ามหน่วยงาน เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ความสำเร็จหรือประเด็นปัญหาจากการทำงาน รวมทั้งสนับสนุนและสร้างช่องทางให้บุคลากรในการเข้าถึงความรู้จากแหล่งต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกคณะฯ โดยจัดให้มีการถ่ายโอนความรู้และพัฒนาบุคลากรในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม การประชุม การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ หรือการให้โอกาสในการเรียนต่อเฉพาะทาง เป็นต้น เพื่อให้บุคลากรทุกระดับนำความรู้และประสบการณ์เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ซึ่งเวทีการเรียนรู้อาจแบ่งได้ 2 แบบ คือ 1. การเรียนรู้ผ่านเวทีจริง (Collaborative Physical Workspace) เช่น การอบรม การฝึกปฏิบัติ การทดลอง การประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือการจัดเวทีแลกเปลี่ยนต่างๆ ที่มีการพบปะ พูดคุยกันโดยตรง เช่น ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice : CoP) และ 2. การเรียนรู้ผ่านเวทีเสมือน (Collaborative Virtual Workspaces) เช่น การอบรมหรือการประชุมผ่านระบบออนไลน์ การเรียนรู้ผ่านระบบ E-Learning เป็นต้น ทั้งนี้คณะฯ มีการสร้างช่องทางสนับสนุนการจัดเก็บและเผยแพร่ความรู้ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) เช่น เว็บไซต์คณะฯ เว็บไซต์ภาควิชา/หน่วยงาน หรือเว็บไซต์การจัดการความรู้ (Siriraj KM website) และเครือข่ายอินทราเน็ต (Intranet) เช่น ระบบเอกสารคุณภาพ Electronic Document (e-DOC) รวมทั้งคณะฯ ได้สร้างช่องทางเพื่อการแลกเปลี่ยนข่าวสาร และเรียนรู้ร่วมกันของบุคลากรในคณะฯ ผ่าน Application Si vWORK เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล และสามารถค้นหาข้อมูลเก่าอ้างอิงได้ตลอด เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฎจะไม่มีวันหมดอายุ
นอกจากนี้การสร้างเทคนิคเพื่อการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีความสำคัญต่อการทำงาน คณะฯ จึงมีการนำเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น แผนที่ความคิด (Mind mapping) เทคนิคในการช่วยจำ (mnemonics) การเปรียบเทียบให้เห็นภาพ (imagery) ดนตรี (music) เพื่อช่วยเพิ่มทักษะการจดจำเรื่องต่าง ๆ ให้ง่าย และเร็วขึ้น
ตัวอย่างเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อสร้างเทคนิคเพื่อการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว
แผนที่ความคิด (Mind mapping) เป็นเครื่องมือจดบันทึกรูปแบบหนึ่งที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ เป็นการถ่ายทอดความคิดและสื่อความหมายด้วยข้อความ หรือรูปภาพคล้ายๆ การแตกกิ่งก้านของต้นไม้ โดยใช้ภาพ สี เส้น และการโยงใย แทนการจดย่อแบบเดิมที่เป็นบรรทัด ๆ ซึ่งงานจัดการความรู้ ได้จัดให้มีหลักสูตรสำหรับการเรียนรู้แผนที่ความคิดในเครื่องมือการจัดการความรู้ หรือ KM Tool ทั้งแบบ E-Learning และแบบฝึกปฏิบัติ เพื่อให้บุคลากรได้ทำเป็น และนำไปใช้ได้จริง (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)เทคนิคในการช่วยจำ (mnemonics) อาจใช้เป็นรหัส กลุ่มคำย่อประโยค บทกลอน หรือคำพ้องเสียง เพื่อช่วยให้จดจำเนื้อหาหรือสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น วัฒนธรรม SIRIRAJ ที่คณะฯ ได้นำเทคนิคในการช่วยจำผสมผสานร่วมกับ การเปรียบเทียบให้เห็นภาพ (imagery) และดนตรี (music) เพื่อให้บุคลากรสามารถเรียนรู้ความหมาย และจดจำได้รวดเร็ว
ตัวอย่างเทคนิคในการช่วยจำแบบบทกลอน คำพ้องเสียง และดนตรี
เพลงวัฒนธรรมศิริราช
ศิริราชคือพี่น้อง ความถูกต้องเรายึดมั่น
รับผิดชอบร่วมกัน คิดสร้างสรรค์ร่วมพัฒนา
ไว้ใจให้เกียรติกัน ประโยชน์มั่นเพื่อประชา
มุ่งมั่นสู่มรรคา เลิศคุณค่าอย่างยั่งยืนตัวอย่างเทคนิคในการช่วยจำแบบรหัส หรือกลุ่มคำย่อ
วัฒนธรรมศิริราช
Seniority (รักกันดุจพี่น้อง)
Integrity (ซื่อสัตย์ ถูกต้อง เชื่อถือได้), Integration (บูรณาการ)
Responsibility (รับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ ตรงต่อเวลา)
Innovation (คิดสร้างสรรค์)
Respect (ให้เกียรติ เอาใจเขามาใส่ใจเรา)
Altruism (คํานึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง)
Journey to Excellence and Sustainability (มุ่งมั่นพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน)จุดเน้นการพัฒนาคุณภาพคณะฯ ประจำปี 2563 ใช้คำย่อว่า “CEE.EO (C-E-E-EO)”
Communication (การสื่อสาร)
Engagement (การสร้างความผูกพัน)
Environment (สิ่งแวดล้อม)
Excellence Organization (องค์กรแห่งความเป็นเลิศ)
(ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ งานพัฒนาคุณภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)นอกจากการสร้าง สนับสนุน และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แล้ว คณะฯ ยังให้ความสำคัญกับการประเมินผลในรูปแบบการใช้แบบประเมิน และการทบทวนประเมินผลและให้ข้อเสนอแนะอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Feedback) ทั้งที่เป็นรายบุคคล และรายกลุ่ม ผ่านการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ที่เรียกว่า การทบทวนหลังปฎิบัติงาน (After Action Review : AAR) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ทบทวนกระบวนการทำงาน ทั้งด้านความสำเร็จและหาปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการสะท้อนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น โดยคงไว้ซึ่งวิธีการที่ดีอยู่แล้ว และแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ รวมทั้งมีการบันทึก/ถอดบทเรียนที่ได้รับเพื่อใช้เป็นข้อมูล/ความรู้ในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไปอย่างเป็นระบบ เช่น จัดทำเป็น Flow, checklist เป็นต้น โดยแนวทางการทำ AAR คือ ทีมงานร่วมกันตอบคำถามภายหลังการทำงานใน 5 ข้อ ดังนี้
- เป้าหมายหรือความคาดหวังของท่าน
- เป็นไปตามเป้าหมายหรือความคาดหวังหรือไม่ เพราะอะไร
- สิ่งที่เกินเป้าหมายหรือความคาดหวัง เพราะอะไร
- สิ่งที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือความคาดหวัง หรือปัญหาที่พบ เพราะอะไร
- ท่านจะกลับไปทำอะไรต่อ หรือปรับปรุงการทำงานอย่างไร
นอกจากนี้คณะฯ จัดให้มีการเยี่ยมสำรวจภายใน (Internal Survey) ประจำปี การเยี่ยมสำรวจการประกันคุณภาพการศึกษาภายในประจำปี เพื่อให้ภาควิชา/หน่วยงานมีการประเมินตนเองผ่านการจัดทำรายงานประเมินตนเองที่คณะฯ มีการออกแบบโดยประยุกต์มาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) และ TQA (Thailand Quality Award) และการลงเยี่ยมพื้นที่เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างกรรมการผู้ตรวจเยี่ยมและภาควิชา/หน่วยงานที่รับเยี่ยม ทำให้เกิดการต่อยอด แบ่งปัน ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนางานทั้งระดับภาควิชา/หน่วยงาน และคณะฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างยั่งยืน
จากข้างต้นที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหัวข้อ พลวัตการเรียนรู้ (Learning Dynamic) ที่คณะฯ ได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นพลังเสริมให้บุคลากร ทั้งระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์กร เกิดการเรียนรู้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ท่านสามารถศึกษาบทความในมิติอื่น ๆ ของ Michael J. Marquardt ได้ที่เว็บไซต์งานจัดการความรู้ (https://www2.si.mahidol.ac.th/km)
ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม พลวัตการเรียนรู้ (Learning Dynamic)
บทความน่าสนใจ สามารถเอาไปปรับใช้ในการทำงานได้