พลวัตการเรียนรู้

พลวัตการเรียนรู้ (Learning Dynamic) หมายถึง การให้โอกาสหรือสร้างการเรียนรู้แก่บุคลากรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ตอบสนองเป้าหมายขององค์กร

          คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม และสนับสนุนให้มีการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ทั้งแบบเฉพาะหน่วยงาน แบบสหสาขา และข้ามหน่วยงาน เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ความสำเร็จหรือประเด็นปัญหาจากการทำงาน รวมทั้งสนับสนุนและสร้างช่องทางให้บุคลากรในการเข้าถึงความรู้จากแหล่งต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกคณะฯ โดยจัดให้มีการถ่ายโอนความรู้และพัฒนาบุคลากรในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม การประชุม การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ หรือการให้โอกาสในการเรียนต่อเฉพาะทาง เป็นต้น เพื่อให้บุคลากรทุกระดับนำความรู้และประสบการณ์เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ซึ่งเวทีการเรียนรู้อาจแบ่งได้ 2 แบบ คือ 1. การเรียนรู้ผ่านเวทีจริง (Collaborative Physical Workspace) เช่น การอบรม การฝึกปฏิบัติ การทดลอง การประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือการจัดเวทีแลกเปลี่ยนต่างๆ ที่มีการพบปะ พูดคุยกันโดยตรง เช่น ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice : CoP) และ 2. การเรียนรู้ผ่านเวทีเสมือน (Collaborative Virtual Workspaces) เช่น การอบรมหรือการประชุมผ่านระบบออนไลน์ การเรียนรู้ผ่านระบบ E-Learning เป็นต้น ทั้งนี้คณะฯ มีการสร้างช่องทางสนับสนุนการจัดเก็บและเผยแพร่ความรู้ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) เช่น เว็บไซต์คณะฯ เว็บไซต์ภาควิชา/หน่วยงาน หรือเว็บไซต์การจัดการความรู้ (Siriraj KM website) และเครือข่ายอินทราเน็ต (Intranet) เช่น ระบบเอกสารคุณภาพ Electronic Document (e-DOC) รวมทั้งคณะฯ ได้สร้างช่องทางเพื่อการแลกเปลี่ยนข่าวสาร และเรียนรู้ร่วมกันของบุคลากรในคณะฯ ผ่าน Application Si vWORK เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล และสามารถค้นหาข้อมูลเก่าอ้างอิงได้ตลอด เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฎจะไม่มีวันหมดอายุ

          นอกจากนี้การสร้างเทคนิคเพื่อการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีความสำคัญต่อการทำงาน คณะฯ จึงมีการนำเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น แผนที่ความคิด (Mind mapping) เทคนิคในการช่วยจำ (mnemonics) การเปรียบเทียบให้เห็นภาพ (imagery) ดนตรี (music) เพื่อช่วยเพิ่มทักษะการจดจำเรื่องต่าง ๆ ให้ง่าย และเร็วขึ้น

ตัวอย่างเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อสร้างเทคนิคเพื่อการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว
          แผนที่ความคิด (Mind mapping) เป็นเครื่องมือจดบันทึกรูปแบบหนึ่งที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ เป็นการถ่ายทอดความคิดและสื่อความหมายด้วยข้อความ หรือรูปภาพคล้ายๆ การแตกกิ่งก้านของต้นไม้ โดยใช้ภาพ สี เส้น และการโยงใย แทนการจดย่อแบบเดิมที่เป็นบรรทัด ๆ ซึ่งงานจัดการความรู้ ได้จัดให้มีหลักสูตรสำหรับการเรียนรู้แผนที่ความคิดในเครื่องมือการจัดการความรู้ หรือ KM Tool ทั้งแบบ E-Learning และแบบฝึกปฏิบัติ เพื่อให้บุคลากรได้ทำเป็น และนำไปใช้ได้จริง (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

          เทคนิคในการช่วยจำ (mnemonics) อาจใช้เป็นรหัส กลุ่มคำย่อประโยค บทกลอน หรือคำพ้องเสียง เพื่อช่วยให้จดจำเนื้อหาหรือสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น วัฒนธรรม SIRIRAJ ที่คณะฯ ได้นำเทคนิคในการช่วยจำผสมผสานร่วมกับ การเปรียบเทียบให้เห็นภาพ (imagery) และดนตรี (music) เพื่อให้บุคลากรสามารถเรียนรู้ความหมาย และจดจำได้รวดเร็ว

                    ตัวอย่างเทคนิคในการช่วยจำแบบบทกลอน คำพ้องเสียง และดนตรี
                    เพลงวัฒนธรรมศิริราช
                              ศิริราชคือพี่น้อง           ความถูกต้องเรายึดมั่น
                              รับผิดชอบร่วมกัน        คิดสร้างสรรค์ร่วมพัฒนา
                              ไว้ใจให้เกียรติกัน          ประโยชน์มั่นเพื่อประชา
                              มุ่งมั่นสู่มรรคา              เลิศคุณค่าอย่างยั่งยืน

                    ตัวอย่างเทคนิคในการช่วยจำแบบรหัส หรือกลุ่มคำย่อ
                    วัฒนธรรมศิริราช
                              Seniority (รักกันดุจพี่น้อง)
                             
Integrity (ซื่อสัตย์ ถูกต้อง เชื่อถือได้), Integration (บูรณาการ)
                             
Responsibility (รับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ ตรงต่อเวลา)
                             
Innovation (คิดสร้างสรรค์)
                             
Respect (ให้เกียรติ เอาใจเขามาใส่ใจเรา)
                             
Altruism (คํานึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง)
                             
Journey to Excellence and Sustainability (มุ่งมั่นพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน)

                    จุดเน้นการพัฒนาคุณภาพคณะฯ ประจำปี 2563 ใช้คำย่อว่า “CEE.EO (C-E-E-EO)”
                             
Communication (การสื่อสาร)
                             
Engagement (การสร้างความผูกพัน)
                             
Environment (สิ่งแวดล้อม)
                             
Excellence Organization (องค์กรแห่งความเป็นเลิศ)
                             
(ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ งานพัฒนาคุณภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

          นอกจากการสร้าง สนับสนุน และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แล้ว คณะฯ ยังให้ความสำคัญกับการประเมินผลในรูปแบบการใช้แบบประเมิน และการทบทวนประเมินผลและให้ข้อเสนอแนะอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Feedback) ทั้งที่เป็นรายบุคคล และรายกลุ่ม ผ่านการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ที่เรียกว่า การทบทวนหลังปฎิบัติงาน (After Action Review : AAR) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ทบทวนกระบวนการทำงาน ทั้งด้านความสำเร็จและหาปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการสะท้อนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น โดยคงไว้ซึ่งวิธีการที่ดีอยู่แล้ว และแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ รวมทั้งมีการบันทึก/ถอดบทเรียนที่ได้รับเพื่อใช้เป็นข้อมูล/ความรู้ในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไปอย่างเป็นระบบ เช่น จัดทำเป็น Flow, checklist เป็นต้น โดยแนวทางการทำ AAR คือ ทีมงานร่วมกันตอบคำถามภายหลังการทำงานใน 5 ข้อ ดังนี้

    1. เป้าหมายหรือความคาดหวังของท่าน
    2. เป็นไปตามเป้าหมายหรือความคาดหวังหรือไม่ เพราะอะไร
    3. สิ่งที่เกินเป้าหมายหรือความคาดหวัง เพราะอะไร
    4. สิ่งที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือความคาดหวัง หรือปัญหาที่พบ เพราะอะไร
    5. ท่านจะกลับไปทำอะไรต่อ หรือปรับปรุงการทำงานอย่างไร

          นอกจากนี้คณะฯ จัดให้มีการเยี่ยมสำรวจภายใน (Internal Survey) ประจำปี การเยี่ยมสำรวจการประกันคุณภาพการศึกษาภายในประจำปี เพื่อให้ภาควิชา/หน่วยงานมีการประเมินตนเองผ่านการจัดทำรายงานประเมินตนเองที่คณะฯ มีการออกแบบโดยประยุกต์มาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) และ TQA (Thailand Quality Award) และการลงเยี่ยมพื้นที่เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างกรรมการผู้ตรวจเยี่ยมและภาควิชา/หน่วยงานที่รับเยี่ยม ทำให้เกิดการต่อยอด แบ่งปัน ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนางานทั้งระดับภาควิชา/หน่วยงาน และคณะฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างยั่งยืน

          จากข้างต้นที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหัวข้อ พลวัตการเรียนรู้ (Learning Dynamic) ที่คณะฯ ได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นพลังเสริมให้บุคลากร ทั้งระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์กร เกิดการเรียนรู้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ท่านสามารถศึกษาบทความในมิติอื่น ๆ ของ Michael J. Marquardt ได้ที่เว็บไซต์งานจัดการความรู้ (https://www2.si.mahidol.ac.th/km)

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม พลวัตการเรียนรู้ (Learning Dynamic)

การปรับเปลี่ยนองค์กรการจัดการความรู้ เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ การให้อำนาจแก่บุคคล พลวัตการเรียนรู้

2 thoughts on “Learning Dynamic

  1. บทความน่าสนใจ สามารถเอาไปปรับใช้ในการทำงานได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.