องค์กรแห่งการเรียนรู้ Learning Organization หรือ LO ในบริบทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หมายถึง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นองค์กรที่ยกระดับคุณภาพ ด้วยการจัดการความรู้ โดยมีการพัฒนาปรับปรุงให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์/บริการ/กระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผล และการบรรลุเป้าหมายของคณะฯ

คณะฯ กำหนดตัวชี้วัด LO index โดยมีการสำรวจองค์กรแห่งการเรียนรู้ทุก 2 ปี และใช้แบบสำรวจของ Marquardt J. Michael (2002) ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้

ด้านที่ 1 การปรับเปลี่ยนองค์กร (Organization Transformation) ได้แก่ การกำหนดทิศทางการเป็น LO ของคณะฯ ดังจะเห็นได้จาก การกำหนดกลยุทธด้าน LO และใช้ Siriraj KM strategy ในการขับเคลื่อนบทบาทผู้บริหารในการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างที่ดี ในการมุ่งสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ การสื่อสารความสำคัญ และการบริหารจัดการองค์กร รวมทั้งการยกย่อง/ให้รางวัลบุคลากร

ด้านที่ 2 การจัดการความรู้ (Knowledge Management) หมายถึง กระบวนการที่เป็นระบบในการบริหารจัดการให้มีความรู้สำคัญที่พร้อมใช้ โดยคณะฯ กำหนดกลยุทธ์ในการจัดการความรู้ Siriraj-Link-Share-Learn เพื่อใช้สื่อสารและขับเคลื่อนให้มีการสร้าง ใช้ จัดเก็บ และแบ่งปันความรู้ในการทำงานเพื่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ผ่านทางการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงงาน และสร้างนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นผู้ใช้บริการ ผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพในการทำงานประจำและระบบประเมินคุณภาพ มีการทดลองหรือจัดทำโครงการนำร่อง การเผยแพร่ แบ่งปัน ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น Quality Fair, Quality Conference การประชุมวิชาการ กิจกรรมชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) เป็นต้น และการส่งเสริมการเรียนรู้จาก Best practice เพื่อการต่อยอดขยายผล

ด้านที่ 3 เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (Learning Technology) หมายถึง การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การจัดการความรู้ และการทำงาน ให้สะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย และพร้อมใช้ (Just in time) ครอบคลุมทั่วทั้งคณะฯ เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนการนำสื่อผสมหรือมัลติมีเดีย มีระบบ Intranet หรือ Internet ในการจัดเก็บคลังความรู้สำคัญ ใช้เทคโนโลยีในการเผยแพร่ และถ่ายโอนความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ

ด้านที่ 4 การให้อำนาจแก่บุคคล (People Empowerment) หมายถึง การเปิดโอกาส หรือให้อำนาจแก่บุคลากรในการเรียนรู้ เพื่อการปฏิบัติงานที่ดี สามารถแก้ไขปัญหา ปรับปรุง และสร้างนวัตกรรมร่วมกัน รวมทั้งการเรียนรู้ร่วมกับผู้รับบริการ องค์กรภายนอก และผู้ส่งมอบ เช่น หัวหน้าและผู้ปฏิบัติงานทำงานร่วมกัน ส่งเสริมให้บุคลากรมีโอกาสแสดงความคิดเห็น และร่วมวางแผนงาน  ส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรม กับองค์กรภายนอกคณะฯ เพื่อการเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้องค์กรภายนอก ได้ร่วมแสดงความเห็น

ด้านที่ 5 พลวัตการเรียนรู้ (Learning Dynamic) หมายถึง การให้โอกาส หรือสร้างการเรียนรู้ แก่บุคลากรอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ตอบสนองเป้าหมายขององค์กร โดยคณะฯ ส่งเสริมการฝึกอบรมทั้งภายใน และภายนอกคณะฯ ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม และสนับสนุนให้มีการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ส่งเสริมการใช้เครื่องมือ หรือเทคนิคที่ช่วยในการเรียนรู้ให้ได้เร็ว เช่น Mind map คำย่อ คำพ้อง หรือดนตรีประกอบ เป็นต้น

สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำสำเนา ทำการเปลี่ยนแปลง หรือทำขึ้นใหม่ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยไม่ได้รับอนุญาต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.