เรียนรู้จากประสบการณ์…เพื่อการพัฒนาที่รวดเร็ว

เรียบเรียงโดย วิจิตรา นุชอยู่ งานจัดการความรู้
ที่ปรึกษาด้านเนื้อหา ศ. พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร รองคณะบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีการพัฒนาเครื่องมือ Siriraj Concurrent Trigger Tool (SiCTT) by Modified Early Warning Sign (MEWS) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก เกือบ 10 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน จึงมีเรื่องราว ประสบการณ์ การปรับปรุง พัฒนากระบวนการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เครื่องมือ SiCTT ในการจัดการความเสี่ยงเชิงรุก รวมทั้งความรวดเร็วในการจัดทำแนวปฏิบัติและการนำลงสู่การปฏิบัติและขยายผลทั้งคณะฯ เรามาเรียนรู้ร่วมกันค่ะ ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาการทำ SiCTT ทำแล้วได้อะไรและเรียนรู้ในด้านใดกันบ้าง

ขั้นตอนสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จ จากการเรียนรู้ในการทำ SiCTT (Lesson learned)

  1. การรวมกลุ่มอย่างเป็นสหสาขาวิชาชีพ เนื่องจากการทำ SiCTT เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศสำคัญ เพื่อกำหนดประเด็นความเสี่ยงสำคัญ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย เพื่อค้นหา แลกเลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นสหสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือบุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการรวมกลุ่มบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่มีภาระงานมาก จึงจำเป็นต้องทำให้ทุกคนเห็นถึงประโยชน์ร่วมกันและคุณค่าที่จะได้รับ ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระงาน แต่เป็นการช่วยพัฒนางานที่มุ่งเน้นผู้ป่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น และมีวิธีปฏิบัติที่ง่ายต่อการทำงานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บุคลากรและทีมงานยินดีและให้ความร่วมมือในการดำเนินการเป็นอย่างมาก จนในระยะหลังมีบุคลากรและทีมงานแจ้งความประสงค์เข้ามาเพื่อดำเนินการเอง เนื่องจากเห็นถึงประโยชน์และผลลัพธ์ที่ดี
  2. การคัดเลือกประเด็นความเสี่ยงในการดำเนินการ SiCTT เนื่องจากคณะฯ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีประเด็นความเสี่ยงที่หลากหลาย จึงต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคัดเลือกประเด็นที่จะดำเนินการ โดยเน้นไปที่การบริการทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นพันธกิจหลักของคณะฯ และผลลัพธ์ต่อความปลอดภัยถึงชีวิตของผู้ป่วยได้ ในระยะแรกเริ่มดำเนินการในกลุ่มโรคเฉพาะ ซึ่งเกิดผลลัพธ์ที่ดี แต่ยังไม่ส่งผลต่อผลลัพธ์รวมของคณะฯ จึงปรับการเลือกประเด็นเป็นความเสี่ยงในระดับคณะฯ ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อองค์กรที่ดี และสามารถขยายผลใช้แนวปฏิบัติได้ทั้งโรงพยาบาล
  3. การรวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องที่ดำเนินการให้ครอบคลุม ในระยะแรกการดำเนินการ SiCTT ยังมีการระบุผู้เกี่ยวข้องไม่ครบถ้วน ทำให้การประชุมในแต่ละครั้งได้ประเด็นไม่ครบ และต้องนัดหมายเพื่อปรึกษาหารือหลายครั้ง ต่อมาจึงมีการพัฒนาให้มีการระบุผู้เชี่ยวชาญ (Link) ที่เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงานให้ครบองค์ประกอบตั้งแต่ต้น จึงต้องมี knowledge facilitator และทีมสนับสนุน/ประสานงาน เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งระดับผู้บริหารเพื่อให้รับทราบและกำหนดนโยบาย การนำลงสู่การปฏิบัติได้ง่ายและเป็นจริงขึ้น และผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติการ เพื่อรวบรวมและสกัดความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ทั้งจากภายในบุคคล เอกสารวิชาการภายในและภายนอกคณะฯ ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบหลัก และสรุปเป็นแนวปฏิบัติที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ
  4. การทดลองปฏิบัติ ในการดำเนินการ SiCTT ส่วนใหญ่ต้องมีการนำแนวปฏิบัติไปทดลองใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าแนวปฏิบัติสามารถใช้ได้จริง และเกิดผลลัพธ์ที่ดี วิธีการคัดเลือกหน่วยงานที่ทดลองปฏิบัติมีส่วนสำคัญอย่างมาก หน่วยงานต้องสามารถเป็นตัวแทนของหน่วยงานทั้งโรงพยาบาลได้ มีความหลากหลาย และครอบคลุม รวมทั้งต้องมีการวางแผนการเก็บข้อมูล การส่งต่อข้อมูล เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการพัฒนาต่อไปได้
  5. การขยายผลและนำไปใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงาน เป็นประเด็นความท้าทายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากคณะฯ มีหน่วยงานที่หลากหลาย แต่ละหน่วยงานมีบริบทและประเภทของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน การนำแนวปฏิบัติไปใช้ต้องมีผู้รับผิดชอบ การวางแผนงานอย่างเป็นระบบ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การสื่อสารและสร้างความเข้าใจ การสอนทักษะสำคัญ และการติดตามประเมินผล มีทีมให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถใช้แนวปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และเมื่อทุกคนสามารถปฏิบัติได้ แนวปฏิบัติดังกล่าวจะกลายเป็นมาตรฐานในการทำงาน ซึ่งแต่ละองค์กรอาจต้องมีการทดลองทำ เพื่อเรียนรู้ และพัฒนาปรังปรุงให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กรตนเอง

ผลลัพธ์จากการทำ SiCTT

ผลลัพธ์หลักที่มุ่งเป้า คือ การจัดการความเสี่ยงเชิงรุกอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการดำเนินการทำให้เกิดแนวปฏิบัติ (Flow) ที่ได้จากการถอด รวบรวม และสกัด ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งที่อยู่ในตัวบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน (Tacit Knowledge) ผสมผสานกับความรู้ มาตรฐาน ผลงานวิจัย นวัตกรรม และ best practice (Explicit Knowledge) จากภายในและภายนอกองค์กร จนเป็นแนวปฏิบัติ โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ในการสนับสนุนการดำเนินการ ทำให้เกิดพัฒนา ต่อยอด และขยายผลแนวทางการปฏิบัติที่ดีไปในแนวทางเดียวกันทั้งโรงพยาบาล  อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ เรียนรู้จากประสบการณ์...เพื่อการพัฒนาที่รวดเร็ว (95 downloads )

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.