ถอดบทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22
Towards Scaling Up and Resilience in Healthcare
เรื่อง “ทำ Risk ให้ครบรส
วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 8.30 – 10.00 น.
รูปแบบผสมผสาน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ และสถานที่
ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม อาคาร 4 ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ศ. พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ศ. พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
น.อ.หญิงภัคภร โลจนะวงศกร : โรงพยาบาลภูมิพล

ผู้ดำเนินรายการ
นพ.สุรพร ก้อนทอง : โรงพยาบาลระยอง

ศ. พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง แนวคิด Enterprise Risk Management (ERM) และประสบการณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลว่า คำจำกัดความของคำว่า “คุณภาพ” คือ การไม่พบปัญหา ไม่มีความผิดพลาด และปลอดภัยทั้งผู้รับ ผู้ให้บริการ และสังคม มีการแก้ปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ บนมาตรฐานของหน่วยงาน จริยธรรมวิชาชีพ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามุมมองของคำว่า “คุณภาพ” มีพื้นฐานอยู่บนความปลอดภัยเป็นสำคัญ
ความเสี่ยง เป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการหรือกิจกรรมการทำงาน การให้บริการ การดูแลรักษาพยาบาล ทำให้เกิดความเสียหาย การไม่บรรลุเป้าหมายหรือความสำเร็จของหน่วยงานหรือองค์กร ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความสูญเสียที่รุนแรงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากความซับซ้อนของระบบเทคโนโลยี และบุคลากรเองก็อาจทำให้ความเสี่ยงมีมากขึ้น ดังนั้นในการปฏิบัติงานจึงต้องอาศัยความรู้ หลักฐานทางวิชาการในการจัดการอย่างเป็นระบบ
สำหรับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีการกำหนดให้ความปลอดภัยเป็นพื้นฐาน กระตุ้นให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย วัฒนธรรมคุณภาพ วัฒนธรรมการเรียนรู้ มุ่งเป้าสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน นำไปสู่การเป็นองค์กรที่น่าไว้วางใจและมีสมรรถนะสูง ความเสี่ยงของคณะฯ มีหลายมิติ

ศ. พญ.ยุวเรศมคฐ์  สิทธิชาญบัญชา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวถึง นิยามของคำว่า “Resilience” ว่าองค์กรทุกองค์กรควรมี “ความยืดหยุ่น” หรือ “การล้มแล้วลุกเร็ว” ทุก ๆ ครั้งที่เจอปัญหา หรือสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียดและความยากลำบาก องค์กรจะสามารถลุกขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีการฟื้นตัว และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง องค์กรต้องยอมรับความเป็นจริง กล้าที่จะทบทวนตนเอง รวมทั้งใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสิ่งสำคัญคือ “ผู้นำ” เพราะผู้นำเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างนโยบาย การจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม และกำหนดเป้าหมายโดยพิจารณาจากมิติคุณภาพต่าง ๆ ตามแนวคิด value-based healthcare คือ เป้าหมายจะถูกนำไปใช้ในการออกแบบกระบวนการทำงานและกำหนดตัวชี้วัดขององค์กร

การทบทวนความเสี่ยงสำคัญในแต่ละระดับ จะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดสู่การปฏิบัติ จากนั้นเป็นการติดตามการดำเนินการตามกระบวนการ นำสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อค้นหาความเสี่ยงสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้น และวิเคราะห์หาแนวทางป้องกันหรือลดความเสี่ยงนั้น ๆ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีจะทำให้เข้าใจสาเหตุหรือปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดอุบัติการณ์ และนำไปสู่การปรับปรุงหรือการออกแบบระบบงานเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

น.อ.หญิงภัคภร  โลจนะวงศกร  โรงพยาบาลภูมิพล กล่าวถึง คุณภาพกับความเสี่ยงว่า ในปัจจุบันหลายโรงพยาบาลดำเนินการจัดการความเสี่ยงในเชิงของการปฏิบัติเพียงด้านเดียว สิ่งหนึ่งที่ต้องการสื่อคือ ความเสี่ยง ควรเป็นเรื่องของทั้งองค์กรที่ครอบคลุมทั้งด้านนโยบาย ด้านการปฏิบัติงาน ด้านการเงิน และด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ รวมทั้งการคาดการณ์โอกาสที่จะเกิดอุบัติการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติการณ์ในอนาคตได้ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า คุณภาพ คือภาวะที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อผู้รับผลงาน และความเสี่ยง คือ โอกาสที่จะไม่บรรลุเป้าหมาย โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดที่ไม่พึงประสงค์ และจะยังคงเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกถ้าไม่มีการปรับปรุง สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ “การบริหารจัดการ     ความเสี่ยง” ซึ่งเป็นการจัดการเพื่อควบคุมโอกาสในการเกิดอุบัติการณ์หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เพื่อยกระดับจากการจัดการความเสี่ยงไปสู่การจัดการเพื่อความปลอดภัย

การประเมินความเสี่ยง คือการคาดการณ์โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยครอบคลุมในหลายมิติ เช่น การจัดการด้านยา การพลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ การบาดเจ็บ การติดเชื้อ การระบุตัวผู้ป่วย การส่งต่อข้อมูลโภชนาการ ความเสี่ยงจากการใช้เครื่องมือ ความเสี่ยงจากระยะเจ็บป่วยในระยะยาว เป็นต้น กระบวนการจัดการอุบัติการณ์ที่ได้ผล (Incident Management) ประกอบด้วย 6 กระบวนการ

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> ทำ Risk ให้ครบรส (123 downloads )

ผู้บันทึกบทเรียน
นางสาวสุดารัตน์ พันธ์เถื่อน
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.