บทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 24Growth Mindset for Better Healthcare System
(ระบบบริการสุขภาพที่ก้าวหน้า ด้วยกรอบความคิดที่กว้างไกล)
เรื่อง “Learn and share with the legend of quality จากเริ่มต้น สู่ตั้งต้น จนเติบโต
วันพุธที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 – 12.00 น.
ณ ห้องสัมมนา Sapphire 200 ศูนย์การประชุม IMPACT FORUM เมืองทองธานี

วิทยากร
ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา
ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช

ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ปัจจุบันอาจารย์ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าความเป็นมาของ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ว่า เริ่มต้นดำเนินการ “งานวิจัยกลไกส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล” ในชื่อ “สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล” หรือ สรพ. จนกระทั่งในปี 2552 จึงปรับหน่วยงานเป็นองค์การมหาชน ภายใต้ชื่อ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. โดยทำหน้าที่กําหนดมาตรฐานและการรับรองคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาล ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ดีและมีคุณภาพ
แรกเริ่มต้องยอมรับว่าทีมนำมีความคิดที่เป็น Growth Mindset มาก เพราะเรื่องมาตรฐานเป็นเรื่องที่ยาก และการที่ต้องทำให้โรงพยาบาลอื่น ๆ เข้าร่วมและเห็นด้วยยิ่งเป็นเรื่องยาก แต่ทีมนำเชื่อว่าสามารถทำได้ จึงเกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของมาตรฐานคุณภาพของโรงพยาบาลนั้น อาจารย์มองเป็นสามเหลี่ยม

การทำงานด้านคุณภาพต้องประกอบไปด้วย คุณธรรม นั่นคือต้องมีเมตตา อยากให้ผู้ป่วยหายจากโรค มีน้ำใจ ให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีจากเรา มีความศรัทธาต่อวิชาชีพในการรับผิดชอบชีวิตและสุขภาวะของผู้ป่วย มีองค์ประกอบด้านคุณภาพ ตามมาตรฐานต่าง ๆ มองความเป็นจริงในการนำมาตรฐานมาปรับใช้ และการจะทำให้คุณภาพสำเร็จได้นั้น ต้องมีกัลยาณมิตรที่ดี หมายถึง สมาชิก    ทุกท่านและทุกโรงพยาบาลที่ร่วมทำงานด้านคุณภาพ และต้องมองเห็นท้องฟ้า หรือเป้าหมายร่วมกัน

ในครั้งแรกที่มีการจัด HA National Forum ขึ้นเพื่อให้โรงพยาบาลที่สนใจในเรื่องคุณภาพเข้าร่วม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก หลังจากนั้นมี โรงพยาบาลป่าแดดสงยาง และโรงพยาบาลหนองบัวระแหวง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กได้นำมาตรฐานเรื่องคุณภาพไปปรับใช้ ทางทีมนำจึงเห็นควรรับรองมาตรฐาน เพื่อเป็นการ Recognition ในปี 2545 เป็นครั้งแรก ในการพัฒนาคุณภาพ อาจารย์แบ่งเป็น 4 เรื่องหลัก ๆ คือ

  1. ต้องมีการพัฒนาคุณภาพโดยอิงกับมาตรฐาน เพื่อการรับรองคุณภาพ
  2. การพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียมเทียบเท่ากับสากล โดยที่ยังคงด้านคุณธรรมของไทยเราไว้ เพราะรากฐานของคุณภาพมาจากคุณธรรม
  3. การพัฒนาคุณภาพสู่ Advanced HA เริ่มจากขั้นที่ 1 ต่อเนื่องเป็นขั้นบันได ขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อเทียบเท่าสากล ลดความเหลื่อมล้ำเชิงสุขภาพ และเพื่อให้เกิดการไว้วางใจของผู้รับบริการ โดยคำนึงถึงทั้ง ผู้ป่วย บุคลากร และประชาชนทั่วไป
  4. Growth Mindset โดยการขยายขอบฟ้า หรือการมองเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้การรักษาเกิดคุณภาพ และความเท่าเทียมเชิงสุขภาพ

ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวถึง คุณภาพ และความปลอดภัยต่อเนื่อง ยั่งยืน ในบริการสุขภาพ เนื่องจากระบบบริการสุขภาพ เป็นระบบที่ซับซ้อน และต้องปรับตัวตาม VUCA World อยู่เสมอ  หรือเรียกได้ว่า ระบบสุขภาพ เป็น dynamic system ดังนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องจึงต้องมี Growth mindset เพื่อให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ โดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จะใช้พลังที่มีอยู่ตามธรรมชาติของ Growth Mindset, VUCA, Stakeholders, Data and Information, Humanity, Learning and Development, Experiential Learning, Multiple Loop Learning และ Dialogue ในการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล

อาจารย์กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้และพัฒนา (Learning and Development) จากประสบการณ์โดยไม่สิ้นสุด โดยอ้างอิงจาก KOLB’S Experiential Learning Cycle ว่าเป็นวงจรการเรียนรู้จากการลงมือทำ ทำให้เกิดประสบการณ์ จากนั้นจึงมีการสะท้อนคิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา การถอดความรู้ เรียนรู้จากประสบการณ์ สู่การลงมือทำและเกิดเป็นประสบการณ์อีกครั้งและการ Double Loop Learning (ภาพที่ 3) ที่เป็นการตั้งเป้าหมาย วางแผนต่าง ๆ ลงมือทำ เมื่อผลออกมาทั้งดีและไม่ดี จะมีการทบทวน เพื่อตั้งเป้าหมายพัฒนาและลงมือทำอีกครั้ง เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์อย่างไม่สิ้นสุด

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> Learn and share with the legend of quality จากเริ่มต้น สู่ตั้งต้น จนเติบโต 

ผู้บันทึกบทเรียน
นางสาวกิตติยาภรณ์ เติมกระโทก
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

อ่านบทเรียน HA National Forum อื่น ๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.